ในประเทศ

เครือข่ายภาคประชาชน บุกกต. ค้านชง “CPTPP” เข้าครม. ส่อเอื้อนายทุนทำลายนโยบายด้านสุขภาพ

วันนี้ (20 ต.ค.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พร้อมด้วย เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารชุมชนเมือง  และ  FTA watch เดินทางมายื่นจดหมายถึงนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่กำลังผลักดันให้ไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า  โดยมีนางสาวรุจิกร  แสงจันทร์  รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ออกมารับหนังสือแทน

นายคำรณ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวของท่านรองนายกฯ ไม่สนใจข้อท้วงติงของหน่วยราชการ ภาควิชาการ สภาองค์กรของผู้บริโภคและภาคประชาสังคมต่างๆ รวมถึงข้อเสนอแนะหลักของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ว่าการเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว หากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง ซ้ำยังกดดันหน่วยราชการอื่นๆ ให้ปรับลดประเด็นสีแดงเป็นสีเหลือง สีเหลืองเป็นสีเขียว โดยไม่คำนึกถึงผลกระทบอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา กต.ก็เคยสร้างความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในการเจรจาความตกลง JTEPA ไทย- ญี่ปุ่น เมื่อปี 2551 เปิดเสรีการเคลื่อนย้ายของเสีย ทั้งที่รีไซเคิลได้ และไม่ได้ (นำเข้ามาทิ้ง) อาทิ ขี้แร่, ขี้ตะกอน ของเสียอื่นๆ จากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ฯลฯ ซึ่งมีผลให้ต้องเปิดเสรีในความตกลงฉบับต่างๆ ตามมาจนประเทศไทยมีสภาพใกล้เคียงกับถังขยะโลก แต่กลับปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าของเสียอันตราย จนภาคประชาสังคมตรวจสอบพบถึงยอมรับ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ทั้งที่ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันนั้นญี่ปุ่นลงนามเรื่องเดียวกันกับฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กลับไม่มีเนื้อหาที่ยอมรับขยะเป็นสินค้าเช่นประเทศไทย อีกทั้งขณะนั้น การแต่งตั้งคณะบุคคลเจรจาไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้แทนจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ให้น้ำหนักกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทำให้การเจรจาความตกลงระหว่างประเทศที่ผ่านมาไม่มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประเทศไทย

ต้องถือว่า ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เท่าทัน แต่การไม่ฟังใครของกต. มีส่วนทำให้การนำเข้าขยะจากต่างประเทศเริ่มต้นขึ้น และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไทยอย่างรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน สังคมไทยสมควรได้รับคำขอโทษอย่างเป็นทางการจาก กต. และเป็นบทเรียนสำคัญเพื่อไม่ให้เดินผิดพลาดอีก ซึ่งเราห่วงใยประเด็นนโยบายด้านสาธารณะสุขและผลกระทบต่อสุขภาพจาก CPTPP โดยเฉพาะการเปิดตลาดเครื่องมือแพทย์มือสอง ระบบสิทธิบัตรและระบบขึ้นทะเบียนยา ผลกระทบต่อการออกมาตรการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ CPTPP ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสมุนไพร ความหลากหลายทางชีวภาพ การแบ่งปันผลประโยชน์ผลกระทบจาก การบังคับเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) การขอยกเว้นกำหนดเป็นข้อสงวนการใช้กลไกเอกชนฟ้องรัฐในการออกมาตรการด้านสาธารณสุข (ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ CL)  ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทย ทำนอง เหล้าจะถูก  ยาจะแพง พืชเมล็ดพันธ์จะถูกผูกขาด