สสส.-ภาคีเครือข่าย ถก“วิกฤตความรุนแรงในครอบครัวและอุบัติเหตุ ตีแผ่ปัญหาสุรา
สสส.-ภาคีเครือข่าย ถก“วิกฤตความรุนแรงในครอบครัวและอุบัติเหตุ ตีแผ่ปัญหาสุรา” หลังพบเหล้าเป็นตัวกระตุ้นถึงร้อยละ 26 จิตแพทย์” ชี้เหล้าเป็นตัวการทำลายสมอง ส่งผลตัดสินใจผิดพลาด ด้าน สธ.ห่วงปีใหม่ อุบัติเหตุพุ่ง หลังคลายมาตรการคุมโรค ปีใหม่วอนงดรวมตัว ดื่มเหล้าเสี่ยงแพร่โรคซ้ำ
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ และ มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดเสวนา “วิกฤตความรุนแรงในครอบครัวและอุบัติเหตุ ตีแผ่ปัญหาสุรา”
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการระบาดของโควิด -19 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,000-4,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 30-40 ราย ต่อวัน อีกทั้งยังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจำนวนหนึ่ง จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ฉีดวัคซีน เว้นระยะห่าง ล้างมือ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ การสังสรรค์ ตั้งวงดื่มเหล้า เสี่ยงเกิดการติดเชื้อเป็นวงกว้าง และเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยจากการสำรวจช่วงเดือนเมษายน 2564 พบคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 33.06 และเป็นปัจจัยร่วมต่อการเกิดความรุนแรงในครอบครัวมากว่า 1 ใน 4 และส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงที่ถูกกระทำซ้ำมากกว่าร้อยละ 75
“การเสวนาวันนี้จึงหวังกระตุ้นเตือนประชาชน ให้ตระหนักถึงปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามามีส่วนร่วม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาและหวังว่าจะเห็นบรรดาผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านค้า ร้านเหล้าผับบาร์ จะค้าขายโดยความรับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อชีวิตคนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ปีใหม่นี้ จะเป็นเทศกาลแห่งความสุข มีจำนวนอุบัติเหตุ ความรุนแรง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลงให้มากที่สุด หรือหากเป็นไปได้ก็ควรงดตั้งวงสังสรรค์ วงเหล้า วงพนัน ควรใช้โอกาสนี้ในการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงบุหรี่ และการพนันด้วย” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ในปี 2563 พบทั้งหมด 593 ข่าว ในจำนวนนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น155 ข่าวหรือร้อยละ 26 ทั้งนี้เป็นข่าวฆ่ากัน 323 ข่าว มากที่สุดคือสามีฆ่าภรรยา ส่วนการทำร้ายพบ 101 ข่าว สามีทำร้ายภรรยามากสุด รองลงมาการทำร้ายกันระหว่างพ่อ-แม่-ลูกและคู่รักตามลำดับ กรณีฆ่าตัวตาย 94 ข่าว ผู้ชายมากกว่าหญิง ขณะที่ ความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 41 ข่าว ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าครึ่งปีหลังสถานการณ์รุนแรงที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น เพิ่มขึ้นในทุกเหตุการณ์ และเมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังพบว่าปี 2563 เพิ่มเป็นร้อยละ 26.2 จากร้อยละ 17.3 ในปี 2561
“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับทัศนคติชายเป็นใหญ่ เพราะเมื่อเขาไปดื่มเหล้าจากพิษเศรษฐกิจ พอเมาแล้วก็กลับมาใช้ความรุนแรงกับคนในบ้าน โดยทางมูลนิธิฯ มีข้อเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้ 1.การเยียวยาทั้งทางด้านจิตใจ และการชดเชยการเสียหายให้กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การฆ่าตัวตาย ความรุนแรงทางเพศ 2.พัฒนาช่องทาง หรือกลไกการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการเชื่อมโยงกับกลไกชุมชนด้วยเพื่อทำงานเชิงป้องกัน 3.มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง ทั้งการห้ามขายให้กับคนเมาครองสติไม่ได้ การขายตามเวลาที่กำหนด ไม่ขายให้กับเด็ก เป็นต้น” นางสาวอังคณา กล่าว
ด้าน นางนงนุช ตันติธรรม รองผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกจัดประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศทั่วโลกที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุด ข้อมูลล่าสุด 9 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค-ก.ย.) มีผู้เสียชีวิต 12,376 ราย ลดลงจากปี 2562 จำนวน 302 ราย เป็นผลจากมาตรการล็อคดาวน์ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้คาดว่าในช่วงปีใหม่ 2565 จะเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังปฏิบัติตัว เพื่อลดอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ “ไม่เมา สวมหมวก ใส่แมส” “ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม”ทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะต้องวิเคราะห์จุดเสี่ยงและมีมาตรการป้องกัน ตั้งด่านตรวจเข้มข้น และบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น ไม่ขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี ไม่ขายคนเมาครองสติไม่ได้ ไม่ขายในช่วงเวลาห้ามขาย เป็นต้น
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบโดยตรงกับการทำงานของสมอง ส่งผลต่อการตัดสินใจ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า วิตก จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในระดับคงที่ สัดส่วนร้อยละ 2-3 การดื่มส่วนใหญ่ดื่มในบ้าน คนที่ได้รับผลกระทบคือคนในครอบครัว เกิดความเป็นทุกข์ ไม่สบายใจ รวมถึงได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงทั้งวาจา และร่างกาย ดังนั้นหากสามารถลด ละ เลิกได้จะช่วยให้ผู้ดื่มรู้สึกภาคภูมิใจ สุขภาพก็ดีตามมา เช่นเดียวกันคนในครอบครัวก็จะคลายทุกข์ ไม่กังวลกับสุขภาพ ส่งผลให้สัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงมีความจำเป็น และจะเป็นการจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ภาครัฐจึงควรมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น