“เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน”จี้“สุชาติ” ประกาศวันเลือกตั้งบอร์ด สปส.ภายใน มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่กระทรวงแรงงาน เวลา 10.00 น. นายธนพงศ์ เชื้อเมืองพาน ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง นางสาวธนพร วิจันทร์ ผู้แทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน พร้อมด้วย กลุ่มผู้ใช้แรงงานจังหวัดสระบุรี, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรม สิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์เครื่องหนังแห่งประเทศไทยและตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 39 มาตรา 40 กว่า 50 คน หอบโหลยาดอง“บอร์ดประกันสังคม” เดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอให้เร่งจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หลังถูกดองมานานตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยใช้โหลยาดองเป็นสัญลักษณ์ล้อเลียน พร้อมชูป้ายข้อความ อาทิ หยุดดอง! เร่งจัดเลือกตั้ง บอร์ดประกันสังคม แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคม ควรมีสิทธิเลือกตั้งบอร์ด จากนั้น เครือข่ายฯได้ส่งตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือ โดยมี นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้แทนมารับหนังสือ
นายธนพงศ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่การประกาศ พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2558 ซึ่งในมาตรา 8 ได้กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้มาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนสัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพของคนพิการและผู้ด้วยโอกาสสำหรับเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง แต่ต่อมามีคำสั่ง คสช.ที่ 40/2558 แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ชุดใหม่ โดยให้ชุดเก่าหยุดปฏิบัติงาน พร้อมกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 วันที่ 9ก.ค. 2562 กำหนดให้รมว.แรงงาน จัดทำระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 8 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ให้เสร็จใน 2 ปี จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2564 รมว.แรงงาน ลงนามเห็นชอบระเบียบฯ และได้ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น ดังนั้นเครือข่ายผู้ใช้แรงงานจึงมาทวงถาม และเรียกร้องดังนี้
ข้อ1.ให้เร่งกำหนดวันและประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งบอร์ดสปส.ภายในเดือนมิ.ย. 2565 ให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ประกาศเมื่อ 8 ก.ย. 2564 ข้อ2. ให้แก้ไขกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย มีสิทธิเลือกตั้งทั้งนายจ้างและผู้ประกันตน การกำหนดไว้ในข้อที่ 16 ย่อมขัดแย้งกับหลักการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 8 วรรคสามได้ เพราะพ.ร.บ.ประกันสังคมไม่มีข้อกำหนดสัญชาติไทยไว้ ขณะที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เป็นนายจ้างและผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบโดยเท่าเทียมกัน ข้อ3. ให้แก้ไขกำหนดสัดส่วนผู้แทนผู้ประกันตนสอดคล้องกับจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, และ 40 ข้อ4. ให้แก้ไขการกำหนดให้มีหน่วยเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งหน่วย ในข้อ 14 ให้สอดคล้องเหมาะสมตามสัดส่วนผู้ประกันตนที่มีในแต่ละจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการใช้สิทธิของผู้ประกันตน และ 5. ควรจัดให้มีการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลือกตั้ง
ด้านนางสาวธนพร กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งบอร์ดสปส.ให้เป็นไปตามกฎหมาย แม้กระทั่งมีการออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การเลือกตั้งฯ แล้วเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2564 แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้งออกมา ขณะที่บอร์ดชุดปัจจุบันเหลือสัดส่วนภาคประชาชนเพียง 2 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตามทราบมาว่ามีแนวโน้มที่รมว.แรงงานจะใช้หลักการสรรหาและแต่งตั้ง ซึ่งกลับไปอยู่ในระบบที่ล้าหลัง เครือข่ายแรงงานไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการสืบทอดอำนาจเช่นนี้ จึงขอเรียกร้องให้รมว.แรงงานเร่งประกาศวันเลือกตั้ง ให้สิทธิผู้ประกันตน 1 สิทธิ 1 เสียงในการเลือกผู้แทนของตัวเองเข้าไปเป็นบอร์ด รวมถึงควรปรับแก้กฎหมายให้สิทธิ์ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการเลือกตั้งด้วย เพราะผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติก็จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเช่นเดียวกัน ก็ควรมีสิทธิในการเลือกผู้แทนของตัวเอง
“วันนี้เครือข่ายฯ จะรอดูท่าทีของกระทรวงแรงงาน หากไม่มีความคืบหน้า เร็วๆนี้เครือข่ายฯจะไปยื่นต่อกรรมาธิการแรงงาน สส. ให้ตรวจสอบสนง.ประกันสังคมในเรื่องนี้” นางสาวธนพร กล่าว
ขณะเดียวกัน นายนันทชัย กล่าวระหว่างหารือกับทางตัวแทนเครือข่ายฯ ว่า จะนำเรียนรัฐมนตรีในเรื่องนี้อีกครั้ง และเร่งให้เกิดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมภายในปีนี้ และคงต้องดูในรายละเอียด ระเบียบขั้นตอนต่างๆ ทั้งนี้จะมีการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกันตนให้ได้รับทราบความคืบหน้าต่อไป