จุฬาฯ เปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ถุงใส่ชิ้นเนื้อแบบเปิดได้เอง สำหรับการผ่าตัดผ่านกล้อง พร้อมจับมือ บ.เอนซไปร์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อยอดเชิงพาณิชย์
วันนี้ (10 สิงหาคม 2565) ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ อ.ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมทางการแพทย์ “ถุงใส่ชิ้นเนื้อแบบเปิดได้เองสำหรับการผ่าตัดผ่านกล้อง (Self-opening endoscopic bag) หรือถุง SEB” ถุงบรรจุชิ้นส่วนเนื้อเยื่อจากการผ่าตัด แบบเปิดปากถุงได้เองเมื่ออยู่ใน ช่องท้องของผู้ป่วย พัฒนาขึ้นโดยทีมคณาจารย์จุฬาฯ ภายในงานมีพิธีการลงนามถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์กับ บริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี จำกัด เพื่อขยายผลออกสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยมี ดร.พิชิต เลิศตำหรับ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี จำกัด และ ดร.เมธี เลิศตำหรับ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี จำกัด ร่วมในการลงนามครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อเวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมจรัญพัฒน์ ชั้น 6 อาคารอุปการเวชชกิจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ปัจจุบัน การศัลยกรรมหรือการผ่าตัดแบบผ่านกล้องเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากช่วยลดขนาดบาดแผลให้เล็กลงมาก ทำให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องจำเป็นต้องใช้ชุดอุปกรณ์และเครื่องมือที่ซับซ้อน โดยเฉพาะถุงใส่ชิ้นเนื้อสำหรับการผ่าตัดช่องท้องผ่านกล้อง ปกติจะผลิตจากวัสดุหลายชนิดและมีรอยต่อ ส่วนใหญ่ต้องใช้เครื่องมือเสริมและอุปกรณ์จำเพาะในการใช้งาน รวมถึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในระดับหนึ่งของศัลยแพทย์ด้วย และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีราคาแพงและค่าใช้จ่ายในการรักษาทางการแพทย์สูง
ทีมนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ร่วมกับ ภาควิชาวิศวกรรมเคมีและศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จึงได้ร่วมกันพัฒนาถุงใส่ชิ้นเนื้อสำหรับการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยทำหน้าที่เป็นถุงบรรจุชิ้นส่วนเนื้อเยื่อจากการผ่าตัด และนำชิ้นเนื้อเยื่อออกมาจากช่องท้องของผู้ป่วย โดยนวัตกรรมถุง SEB นี้ ผลิตมาจากวัสดุชนิดเดียว ไร้รอยต่อ จุดเด่นคือกลไกในการเปิดปากถุงได้เองเมื่ออยู่ในช่องท้องของผู้ป่วย ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก ทำให้ช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัด ในส่วนของขั้นตอนการผลิตถุง สามารถผลิตได้ในขั้นตอนเดียว ไม่ซับซ้อน ลดความยุ่งยากและต้นทุนในการผลิต
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีการผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อสังคม (Real-world impact innovation) ตลอดจนมุ่งใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการตอบสนองและบริการสังคมด้วยการสร้างสรรค์ และบ่มเพาะองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหาสังคม ทันต่อการปรับเปลี่ยน และการแข่งขันในระดับโลกอย่างยั่งยืน โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พลิกโฉมสู่มหาวิทยาลัยที่เน้นนวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม “Innovations for Society” เน้นจุดยืนที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคม สร้างสรรค์ให้สังคมมีคุณภาพที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี ไปจนถึงการส่งเสริมองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนสังคมให้ไปข้างหน้าด้วยกัน
“ในวันนี้นับว่าเป็นก้าวครั้งสำคัญของทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย คณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ กับ บริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี จำกัด บริษัทของคนไทย ได้ร่วมมือกันในการพัฒนาและผลักดันนวัตกรรมถุงใส่ชิ้นเนื้อแบบเปิดได้เองสำหรับการผ่าตัดผ่านกล้อง หรือ Self-opening Endoscopic Bag ให้ออกสู่สังคม เพื่อยกระดับการบริการทางการแพทย์ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
ทางด้าน ดร.พิชิต เลิศตำหรับ เผยถึงมุมมองของบริษัทว่า นวัตกรรมถุง SEB นี้ เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดี มีคุณภาพ และราคาถูก ลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ซึ่งบริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนา และผลิตผลิตภัณฑ์ทางด้านการแพทย์และมีสถานที่ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับมาตรฐานสากล พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ บริษัทมองว่านวัตกรรมทางการแพทย์ชิ้นนี้มีศักยภาพสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในตลาดโลกได้ ทั้งนี้ ทางบริษัทเอนซไปร์ อินดัสตรี มีความยินดีอย่างมากที่จะช่วยผลักดันให้นวัตกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม สร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ เพื่อให้คนไทยและประชาชนทั่วโลกได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป