วันเยาวชนแห่งชาติ ตีแผ่ปัจจัยเสี่ยง “เหล้า-ยา-พนัน” กระตุ้นวัยรุ่นเปิดศึกศักดิ์ศรี ก่อคดี ก่อนจบลงที่สถานพินิจ
วันเยาวชนแห่งชาติ ตีแผ่ปัจจัยเสี่ยง “เหล้า-ยา-พนัน” กระตุ้นวัยรุ่นเปิดศึกศักดิ์ศรี ก่อคดี ก่อนจบลงที่สถานพินิจ “ทิชา” ย้ำต้องปรับพฤติกรรม ทัศนคติ เปลี่ยนอริ เป็นสหาย ด้าน 2 อดีตเยาวชนก้าวพลาด เปิดอกคุ้ยปมใช้ความรุนแรง รังแต่จะซ้ำเติมปัญหาไม่จบไม่สิ้น
20 กันยายน “วันเยาวชนแห่งชาติ” ปีนี้ ชวนมาฟังเสียงอดีตเยาวชนที่เคยก้าวพลาด การใช้สติคือทางออกในการแก้ปัญหาความรุนแรง และเสียงสะท้อนจากคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน ในมุมมองต่างๆ ผ่านเวทีเสวนา “วัยรุ่นกับศักดิ์ศรีและความรุนแรง…บทเรียนราคาแพง” ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายละครเฉพาะกิจเธียเตอร์ และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเยาวชนที่ก้าวพลาด ให้ลุกขึ้นยืนและคืนคุณค่าอย่างสันติ เป็นจุดยืนของบ้านกาญจนาฯ แม้ว่าจะเป็นงานยาก เนื่องจากความคิดและค่านิยมสังคมมองคนกลุ่มนี้ติดลบ แต่ยังเชื่อว่าการทำงานกับวัยรุ่นที่เป็นคู่ขัดแย้ง ให้หันมาเป็นมิตรสามารถทำได้ผ่าน 6 แนวคิด 1.สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไปให้ถึงความปลอดภัยของทุกคนเพราะ1 คน ไม่ปลอดภัยเท่ากับทุกคนไม่ปลอดภัย 2.ปฏิเสธระบบอำนาจนิยมหรืออำนาจแนวดิ่งและพัฒนาอำนาจในแนวราบขึ้นมา แต่ต้องยอมรับการโต้กลับเพื่อรักษาจุดยืนของฝ่ายอำนาจนิยม เฉพาะที่บ้านกาญจนาภิเษก “สงครามทางความคิด” ยาวนานเกือบ5ปี 3.ออกแบบให้มีการเปิดรับข้อมูล จากวัยรุ่นทุกคนในพื้นที่รวมถึงคู่ขัดแย้งให้มากที่สุด จากนั้นค่อยนำข้อมูลมาวางแผนการขับเคลื่อน การใช้ประสบการณ์ของผู้ใหญ่โดยไม่ฟังเสียงวัยรุ่นผู้มีส่วนได้เสียอาจลดทอนพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลง 4.Pay it Forward หรือจ่ายไปก่อนหรือทุกการแก้ปัญหามีราคาที่ต้องจ่ายและอาจแพงมาก 5.ต้องดื้อรั้นให้นานพอ ไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงจะไม่มีทางตั้งแกนได้ ถ้าสู้ๆ ถอยๆ เกรงใจ ประนีประนอม และ 6.กล้าถูกเกลียด–ยอมถูกเกลียด คือผลผลิต คือรางวัลระหว่างเส้นทางอันยาวไกล แต่ในที่สุดผลลัพธ์ก็จะผลิบาน ซึ่งอาจใช้เวลายาวนาน ต้องรอคอยอย่างเชื่อมั่น
นายเบนซ์ อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตอนอายุ 15 ปี ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนในชุมชน ชอบตั้งวงกินเหล้าและใช้สารเสพติด ต่อมามีวัยรุ่นชายอายุรุ่นเดียวกันกำลังคบหากับผู้หญิงในชุมชน แต่ตัวเองกลับไม่ชอบหน้าจึงตามหาเรื่องและทะเลาะตลอด เมื่อเข้าเรียนต่ออาชีวศึกษาก็อยู่สถาบันที่เป็นคู่อริกัน สุดท้ายได้ใช้ปืนยิงต่อสู้จนมีคนเสียชีวิต ทำให้ชายคนดังกล่าวได้รับโทษและถูกส่งตัวไปอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ ส่วนตัวเองถูกจับข้อหาอื่น และถูกส่งไปยังบ้านต้นทาง และต่อมาก็ขอย้ายตามไปอยู่ที่บ้านกาญจนาฯด้วยหวังแก้แค้น แต่พอเข้าไปแล้วระบบการดูแล และวัฒนธรรม กลับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง ไม่ทะเลาะ ไม่ใช้ความรุนแรง มีโอกาสคุยกับคู่กรณีซึ่งตอนนี้กลายมาเป็นเพื่อนกันแล้วพบว่า เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน แต่เป็นความคึกคะนองของวัยรุ่นที่ทำให้มีปัญหา
“มองย้อนกลับไปเสียใจมาก ขอให้คนรุ่นใหม่ใช้ประสบการณ์ชีวิตทั้งดีและร้ายเพื่อเตือนตัวเอง เมื่อเจอเหตุการณ์อะไรขอให้มีสติ คิดให้มาก เพราะถ้าพลาดแล้วบางคนสามารถแก้ตัวได้ แต่บางคนอาจเสียชีวิต ไม่มีโอกาสได้แก้ไขอะไรเลย และฝากครอบครัวที่มีลูกหลานวัยรุ่น ให้พยายามพูดคุย อยู่เคียงข้างเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเข้าข้างเมื่อทำผิด แต่ต้องเอาใจใส่ เปิดโอกาส ซึ่งสำคัญมาก” นายเบนซ์ กล่าว
ขณะที่ นายใหญ่ อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาฯ กล่าวว่า เมื่อปี 2545 พ่อของตนเสียชีวิตจากเหตุทะเลาะวิวาทกับคนข้างบ้านในวงเหล้า ทำให้ตนโกรธแค้นคิดว่าชีวิตต้องแลกด้วยชีวิต ต่อมาตนโดนคดีปล้นทรัพย์ จึงได้ไปตามหาคู่กรณีที่บ้านต้นทาง และบ้านกรุณา แต่คลาดกันเพราะคู่กรณีก็ถูกย้ายไปยังบ้านกาญนาฯ เพราะความประพฤติดี และด้วยความต้องการแก้แค้นจึงพยายามปรับพฤติกรรมทำตัวนิ่งๆ ไม่เกเรเพื่อให้ตนได้เข้าไปอยู่ที่บ้านกาญจนาเช่นกัน ซึ่งก็สำเร็จได้เข้าไปอยู่ที่บ้านกาญจนา และได้เจอกับคู่กรณี มีโอกาสรับฟังมุมมองของเขาที่บอกว่าไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำเพื่อป้องกันตัว ซึ่งตนไม่เชื่อและยังต้องการแก้แค้น แต่วัฒนธรรมของบ้านกาญจนาฯ ไม่มีใครส่งเสริม หรือช่วยเหลือคนใช้ความรุนแรง ความรุนแรงเป็นเรื่องแลปกสำหรับที่นี่และไม่มีใครยอมรับ แต่ที่นี่พยายามแยกให้ทำกิจกรรม และปรับวิธีคิด ตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเอง เตรียมความพร้อมออกสู่สังคม อีกจุดเปลี่ยนสำคัญคืองานวันสันติภาพ ที่คู่กรณีและคุณพ่อของเขาได้มาขอขมาตนเองและย่า จึงนำมาสู่การให้อภัย และสามารถเป็นเพื่อนกันได้ในที่สุด
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติปีนี้ ได้ยกประเด็นความรุนแรงเป็นบทเรียนราคาแพงในกลุ่มวัยรุ่นขึ้นมา มีเป้าหมายเผยสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน ยาเสพติด ที่นำมาสู่ความรุนแรง และการก้าวพลาดของเยาวชน หลังการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ พบว่า เยาวชนที่เริ่มดื่มตั้งแต่อายุน้อย พฤติกรรมอาจมีปัญหามากกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่ม และมีโอกาสใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสการก้าวพลาด ผลสำรวจเยาวชนในสถานพินิจ ปี 2564 พบว่า 82% เยาวชนที่เข้ามาใช้สารเสพติด และเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้ก่อความผิด และทำผิดซ้ำ โดยสารเสพติดที่พบมากสุดคือ ยาสูบ แอมเฟตามีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกว่า 90% ใช้มากกว่า 1 ประเภท ขณะที่ผลสำรวจแนวโน้มการดื่มสุราในประชากรไทยปี 2554 – 2564 พบคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แต่เพิ่มขึ้นในเยาวชนอายุ 15-19 ปี ทั้งชายและหญิง สสส. จึงทำงานเชิงรุกแก้ปัญหา ปกป้องเด็ก เยาวชน และสังคม ให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง
ขณะที่ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์เกิดจากการเรียนรู้ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับคำว่า “คนเลวโดยสันดาน” ทั้งนี้ จากการรับฟังแนวคิดของอดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ ทั้ง 2 คน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีได้ และเป็นสิ่งยืนยันว่าโดยเนื้อแท้แล้วมนุษย์เป็นคนดี หรือเลว อยู่ที่สภาพแวดล้อมด้วย ตนจึงคิดว่าสถานที่ดีๆ แบบบ้านกาญฯทำไมถึงไม่มีอยู่ในสังคมด้านนอกให้มากๆ เพราะจากการทำงานกับคนไร้บ้านในช่วงที่ผ่านมา มีเยาวชนจำนวนมากที่อยู่ข้างถนนและต้องถลำลึกสู่การกระทำผิดลงไปเรื่อยๆ ตนขอชื่นชมบ้านกาญจนาฯ ที่ยังเชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ ที่ทำพลาดได้ แต่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ โดยการโอบกอด ให้เกียรติ ให้ความไว้วางใจ สร้างความปลอดภัย ตัดวงจรความรุนแรง ตัดวงจรการล้างแค้น ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่จบสิ้นนั้นมาจากการล้างแค้น อย่างไรก็ตามอีกปัจจัยที่ทำให้คนใช้ความรุนแรง มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความเหลื่อมล้ำ หากสังคมมีความเท่าเทียม มีสวัสดิการ มีโอกาสที่เท่าเทียมกันเชื่อว่าจะดีกว่านี้