ในประเทศ

ลดเหลื่อมล้ำ-กระจายอำนาจ แนวทางแก้ขัดแย้งในสังคม

ผลสำรวจชี้ชัดการกระจายอำนาจ เพิ่มความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นแนวทางแก้ความขัดแย้งในสังคม สร้างความปรองดอง

สำนักงาน ป.ย.ป. ซึ่งมีนายศุภฤกษ์ ภู่พงศ์ศักดิ์ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. และคณะ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ หัวหน้าโครงการ และคณะวิจัย ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.เอกสิทธิ์ หนุนภักดี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา บุญยัง และทีมสนับสนุน จัดทำโครงการขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์รายการค่าใช้จ่ายในการสร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เพื่อแสวงหาองค์ความรู้และข้อมูลเรื่องปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยและวิธีการสร้างความปรองดอง

โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการหาแนวทางสร้างความปรองดองด้วยการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและสำรวจความคิดเห็นด้วยแบบสอบถาม นำองค์ความรู้และข้อมูลดังกล่าวมาสังเคราะห์วิเคราะห์สภาพปัญหา กำหนดแนวทางและสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และจัดทำข้อเสนอที่ระบุแนวทาง กลไกและมาตรการในการสร้างความปรองดอง

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยจำนวนไม่ต่ำกว่า 3000 คน และการจัดการประเชิงปฏิบัติการในจังหวัดตัวแทนภูมิภาคซึ่งมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 600 คน รวมถึงจัดประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือแนวทางและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีเป้าหมายว่าจะได้รับข้อมูลและแนวทางในการสร้างความปรองดองจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่สอดคล้อง ต่อสถานการณ์และความเป็นจริง

ประเด็นทางออกของความขัดแย้งหรือความปรองดองเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ทุกฝ่ายเห็นความขัดแย้งและความเห็นต่างเป็นสิ่งปกติที่ต้องเกิดขึ้นในสังคมจึงเห็นว่าการปรองดองคือการทำให้คนในสังคมสามารถเห็นต่างกันแต่อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ ซึ่งในการนี้ทุกกลุ่มเห็นว่าจะต้องดำเนินการอย่างน้อย ๒ เรื่องคือ หนึ่ง การปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นโดยการส่งเสริมรักษาระบอบประชาธิปไตย ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การสร้างกติกาที่ชอบธรรม เป็นธรรมและเสมอภาคเพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนทุกคน สอง ปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นโดยการลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม การสร้างรัฐสวัสดิการ หรืออีกนัยหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการสร้างความปรองดองคือ “กติกา” และ “ความอยู่ดีกินดี” ของประชาชน

การที่จะดำเนินการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในสังคมไทยให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นหรือการสร้างกติกาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเพื่อให้เกิดความปรองดองตามความคิดเห็นและข้อเสนอของภาคส่วนต่าง ๆ ดังข้างต้นนั้น และภายใต้โอกาสและข้อจำกัดต่าง ๆ โดยมีโอกาสที่สำคัญคือ การที่ประชาชนมีฉันทามติในเรื่องความต้องการอยู่ร่วมกันแม้มีความเห็นต่าง และมีข้อจำกัดสำคัญคือการขับเคลื่อนข้อเสนอเพื่อสร้างความปรองดองจำเป็นต้องใช้อำนาจ โครงการนี้จึงเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนที่สามารถดำเนินการได้โดยสอดคล้องกับโอกาสและข้อจำกัดดังกล่าวคือ การขับเคลื่อนการปรองดองที่ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนได้ และเป็นการขับเคลื่อนภายใต้เงื่อนไขปัจจัยที่ดำรงอยู่ของแต่ละภาคส่วนโดยใช้แนวทาง “เปิด-ปรับ-ผลัก” อันหมายถึงการดำเนินการเปิดพลังบวกลดปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อความปรองดอง ปรับเปลี่ยนความรู้คิดเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกัน และผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้มีการแก้ไขปรับปรุงเชิงสถาบันและโครงสร้างต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของประชาชน ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนภาคเอกชนและภาครัฐ (Public-Private-People partnerships) หรือ “กลไกประชารัฐ” ซึ่งประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน