ในประเทศ

สสส.ปลุกคนรุ่นใหม่รู้ทันอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า

วันที่ 8 พ.ค. 2566 สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชน จัดเสวนาทางวิชาการเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับคนรุ่นใหม่ หัวข้อ “รู้ไหมว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 ยืนยันผลกระทบต่อประชาชน หากผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ไม่คุ้มค่ากับภาษีที่จัดเก็บได้ ทำให้ประชาชนได้รับความเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย 3 ด้าน คือ 1.อันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ 2.อันตรายต่อสุขภาพของคนรอบข้าง และ 3.ทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามาเสพติดนิโคตินเพิ่มขึ้น โดยในแง่อันตรายต่อสุขภาพผู้สูบ ยังมีความเข้าใจผิดในสังคมอยู่ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งแท้จริงแล้วในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอันตรายบางอย่างที่ไม่พบในบุหรี่ธรรมดาเกือบ 2,000 ชนิด และที่สำคัญนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา โดยเป็นนิโคตินรูปแบบใหม่ที่ยิ่งทำให้เสพติดง่ายขึ้น ซึ่งสารพิษและนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าทำลายสุขภาพปอด หัวใจและหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง จากรายงานวิจัยพบว่าความเสี่ยงจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา 

“การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง มีข้อมูลระบุว่าปริมาณฝุ่นพิษหรือ PM2.5 จากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 1,121 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่าอากาศมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 45 เท่า แต่ที่น่ากังวลมากที่สุด คือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นต้นทางของการสูบบุหรี่และการเสพติดนิโคตินของเด็กและเยาวชน งานวิจัยในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กที่ได้ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะเริ่มสูบบุหรี่ธรรมดารวมทั้งสูบบุหรี่ธรรมดาในปริมาณที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งตรงกับข้อมูลการศึกษาในไทยที่พบเด็กไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 4 เท่า” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย ตามกฎหมายควบคุม 4 ฉบับ คือ 1.ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท 4.พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 เพราะน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมายตามมาตรา 67 จะมีฐานความผิดการห้ามสูบในที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่ที่ผ่านมายังมีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนมาตลอด จึงอยากขอความร่วมมือให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง

“สังคมไทยมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นบุหรี่ไฟฟ้ากับกัญชา ต้องยอมรับว่ากัญชานับเป็นพืชที่สามารถให้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และการใช้งานกัญชาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์คือ ต้องไม่มีการเอาไปใช้ประโยชน์อย่างเสรีของบุคคลทั่วไป แต่บุหรี่ไฟฟ้ากลับยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ในมิติต่าง ๆ ได้เลย โดยเฉพาะประเด็นการช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดมีการยื่นขออนุญาตและขึ้นทะเบียนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกสูบบุหรี่ ตามที่มีการกล่าวอ้าง จึงขอเน้นย้ำประชาชนทุกคนว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อันตรายไม่แตกต่างจากบุหรี่มวน การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในอนาคตได้” นายไพศาล กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า การผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพื่อการจัดเก็บภาษี หรือเพื่อสร้างรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจนั้น ที่ผ่านมาธนาคารโลก (World Bank) มีจุดยืนชัดเจนประกาศให้บุหรี่เป็นสินค้าไม่ปกติ และยังจัดให้เป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาล เนื่องจากทำลายสุขภาพของประชาชน รวมถึงเป็นภาระงบประมาณของประเทศต่าง ๆ ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บจากการสูบบุหรี่ด้วย ซึ่งหลายประเทศเริ่มมีการควบคุมบุหรี่ทุกชนิดอย่างเข้มข้น เช่น นิวซีแลนด์ได้ผ่านร่างกฎหมายห้ามจำหน่ายบุหรี่ทุกชนิดให้เด็กและเยาวชนที่เกิดหลังวันที่ 1 มกราคม ปี 2552 เป็นต้นไป พร้อมตั้งเป้าหมายให้นิวซีแลนด์ปลอดบุหรี่ภายในปี 2568 ซึ่งนายอาเยชา เวอร์รัล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ ประกาศว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขได้หลายพันล้านดอลลาร์ สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยจากโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ เช่น มะเร็ง ภาวะหัวใจวาย