สสส.ชู 400 สถานประกอบการต้นแบบปลอดบุหรี่
รวมพลังต้านบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า สสส.ชู 400 สถานประกอบการต้นแบบปลอดบุหรี่ เดินหน้าขับเคลื่อนแรงงานปลอดบุหรี่ สุขภาพดี เตือนวัยแรงงานสูบบุหรี่หนักสุด 21 % ตายจากบุหรี่ 8 หมื่นคน สูญเสียทางเศรษฐกิจ 3.5 แสนล้านบาท
วันที่ 16 พ.ค. 2566 ที่โรงแรมโนโวเทล ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จ.ปทุมธานี สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ภายใต้แนวคิด : รวมพลังสถานประกอบการ ต้านบุหรี่ไฟฟ้า ให้สถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ประเมินสถานประกอบการปลอดบุหรี่ 73 แห่ง
โดย น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ผลสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ปี 2564 พบว่า ในภาพรวมอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปลดลงตามลำดับ แต่กลุ่มวัยทำงานสูบบุหรี่ถึง 21% ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มอื่น จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ปี 2564 พบว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 80,000 คน คิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี เทียบเท่า 2.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) องค์การสหประชาชาติ ให้คำแนะนำว่า การควบคุมยาสูบของไทยให้มีประสิทธิภาพ ต้องใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านบาทต่อปี (น้อยกว่า 1% ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่) ภายใน 15 ปี จะช่วยลดคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 35,790 คน และลดคนป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ 169,117 คน หรือทุก 1 บาท ที่ลงทุนจะได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นเงิน 2.53 บาท
น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า สสส. มุ่งเน้นการลดอัตราการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการป้องกันนักสูบ/นักดื่มหน้าใหม่ การลด ละ เลิกการสูบ/การดื่มของผู้สูบ/ผู้ดื่มเดิม และการดูแลสภาพแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ โดยสสส. สนับสนุนสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ตั้งแต่ปี 2551 เชื่อม สาน และเสริมพลังส่งเสริมให้สถานประกอบการสามารถคุ้มครองสุขภาพของพนักงานจากควันบุหรี่ ปัจจุบันมีสถานประกอบการปลอดบุหรี่มากกว่า 4,000 แห่ง มีการบูรณาการการทำงานในประเด็นสร้างเสริมสุขภาพอื่นๆ อาทิ Happy Workplace และการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ไปยังสายเลิกบุหรี่ 1600 ช่วยเหลือให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ทำให้กลุ่มวัยทำงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำมาสู่ผลประกอบการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของสถานประกอบการ
นางสาวศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบการปลอดบุหรี่ต้นแบบมากกว่า 400 แห่ง จากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกว่า 4,000 แห่ง ในปีนี้มีสถานประกอบการที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ 73 แห่ง มีการจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ปลอดควันบุหรี่ ช่วยเหลือพนักงานที่ติดบุหรี่ให้สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ และป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ในสถานประกอบการอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ได้จัดทำคู่มือ ชุดความรู้ และเครื่องมือต่างๆ จากบทเรียนและองค์ความรู้จากการดำเนินงานป้องกันและควบคุมการสูบบุหรี่ของแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจนำไปใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแรงงานสุขภาพ ปลอดบุหรี่ และพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ต่อไป
ด้านนางประไพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายบริหารและบุคคล บริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน จึงได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ ทำให้ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่จากสสส. และหน่วยงานจากภาครัฐ การดำเนินงานให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมจากพนักงานทุกระดับและทุกขั้นตอน มีคณะทำงานสนับสนุนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้ปลอดบุหรี่ และเอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ มีกลไกการช่วยพนักงานที่ติดบุหรี่ให้สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ทำคู่ขนานกับการป้องกันเกิดนักสูบหน้าใหม่ ที่เน้นการสื่อสารให้ความรู้แก่พนักงานตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันมีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่ 43 คน จากพนักงานที่ติดบุหรี่ 107 คน และสามารถเลิกบุหรี่ได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปได้ 10 คน ส่งผลให้ให้บริษัทผ่านการประเมินเป็นสถานประกอบปลอดบุหรี่ระดับดีเด่นในที่สุด
ทั้งนี้ ภายในงานมีการมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณให้สถานประกอบการทั้งสิ้น 73 แห่ง แบ่งเป็น ระดับดีเด่น 15 แห่ง ระดับก้าวหน้า 23 แห่ง และระดับพื้นฐาน 35 แห่ง และมีการเสวนาในหัวข้อ “รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า” โดยผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ได้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่อการดำเนินงานด้านการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าในสถานประกอบการ ในประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารพิษในบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้สูบและคนรอบข้าง การตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าที่สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย และกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีผลบังคับใช้ครอบคลุมไปยังสถานประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรม