คกก.คุมน้ำเมาประจวบฯ – เครือข่ายงดเหล้าจังหวัด-ภาคตะวันตก MOU ดันบุญประเพณีปลอดเหล้าจริงจัง สร้างวิถีชีวิตปลอดภัย
คกก.คุมน้ำเมาประจวบฯ – เครือข่ายงดเหล้าจังหวัด-ภาคตะวันตก MOU ดันบุญประเพณีปลอดเหล้าจริงจัง สร้างวิถีชีวิตปลอดภัย รองผู้ว่าฯ ลุยปรับแผนฯ ระดับชาติระยะ 2 พร้อมปรับแก้ก.ม.คุมเหล้า เข้าครม. ภาคประชาชน ย้ำแก้ได้ ต้องดีกว่าเดิม เน้นม. 29, 32 หยุดใช้โลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณาสินค้าอื่น-ไม่ขายคนเมา
เมื่อเร็วๆ นี้ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบุญประเพณี วัฒนธรรมวิถีใหม่ปลอดเหล้าปลอดภัยจังหวัดประจวบฯ ระหว่าง คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดฯ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จ.ประจวบฯ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก โดยมีภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยนายกิตติพงศ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดประจวบฯ ดำเนินการควบคุม ป้องกันปัญหาจากการดื่มมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา ควบคุมการโฆษณา ส่งเสริมการขาย การให้ทุนสนับสนุน และการดำเนินการผ่านระบบภาษี
“ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมปรับปรุงแผนปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติระยะที่ 2 และ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติและดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนการเรื่องงานบุญ ประเพณีปลอดเหล้านั้นก็มีการดำเนินการมาอยู่แล้ว แต่การที่ MOU ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะจะช่วยส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพลดจำนวนนักดื่ม และลดผลกระทบจากการดื่มได้มากยิ่งขึ้น”นายกิตติพงศ์ กล่าว
ด้าน น.ส.ธนพร บางบัวงาม ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จ.ประจวบฯ กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่ประชาชนมากกว่า 13 ล้านคนลงชื่อสนับสนุน เพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกมิติ ทั้งความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุ อาชญากรรม คุ้มครองสุขภาพประชาชน ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ที่สำรวจผู้มีอายุ 15 ขึ้นไปพบว่า ผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มจาก 38.68 ล้านคนในปี 2554 มาเป็น 41.04 ล้านคนในปี 2564 เท่ากับว่ามีนักดื่มลดลงประมาณ 2.3 ล้านคน เมื่อคำนวณปริมาณเอทานอลบริสุทธิ์ต่อหัวประชากรที่ดื่มพบว่า อยู่ในระดับทรงตัว คือ 7.1 ลิตรต่อปี แต่เมื่อคำนวณต้นทุนที่สูญเสียจากปัญหาการดื่มในปี 2564 สูงกว่า 1.65 แสนล้านบาท อีกทั้งข้อมูลพบผู้ต้องขังอายุไม่เกิน 25 ปีพบว่า 88% มีการดื่มสุราก่อนก่อเหตุ และผู้เสียชีวิตจากโรคตับที่สัมพันธ์กับการดื่มถึง 2.5 หมื่นคนต่อปี
เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดประจวบฯ ขอบคุณสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชนและลดผลกระทบทางสังคม อย่างไรก็ตามเนื่องจากกฎหมายบังคับใช้มานาน จึงสนับสนุนให้มีการปรับแก้ โดยยึดหลักการแก้ไขให้ดีและเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 32 ห้ามใช้ตราสัญลักษณ์ (โลโก้) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโฆษณาสินค้าอื่น อาทิ น้ำดื่ม โซดา กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนกรณีมาตรา 29 ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาครองสติไม่ได้ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุราอย่างจริงจัง สร้างแรงจูงใจให้ผู้ติดสุราเข้าสู่การบำบัด
ขณะเดียวกัน กลไกการทำงานที่เข้มแข็งของเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ก็จะร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาให้เข้มแข็ง ผ่านการทำ MOU ของทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ 1. สร้างความเข้มแข็งภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพระดับจังหวัด 2. สนับสนุน ส่งเสริม การดำเนินงานสถานศึกษา เครือข่ายเยาวชนให้มีความตระหนักเรื่องพิษภัยและป้องกันนักดื่ม นักสูบหน้าใหม่ 3. สร้างวัฒนธรรม ค่านิยมใหม่ในงานเทศกาล งานบุญประเพณี ปลอดบุหรี่และสุรา ลดแรงสนับสนุนการดื่ม เฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายของธุรกิจแอลกอฮอล์ และบังคับใช้กฎหมาย 4. สนับสนุนกระบวนการแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ