sacit สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้จากบรรพบุรุษ ต่อยอดหัตถกรรมไทยไม่ให้สูญหายจากสังคมไทย
sacit นำคณะสื่อมวลชนลงภาคใต้ เพื่อศึกษางานศิลปหัตถกรรมไทย เกิดการรับรู้และอนุรักษ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ พร้อมทั้งสืบสานและต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ sacit มีภารกิจในการสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการสืบสานและรักษาภูมิปัญญาเทคนิคเชิงช่างให้คงอยู่คู่กับสังคมไทย จึงจัดกิจกรรมนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อศึกษางานศิลปหัตถกรรมไทยชั้นครูในถิ่นภาคใต้ และถ่ายทอดงานหัตถศิลป์ไทยทรงคุณค่า ที่เป็นเอกลักษณ์ทาง
ภูมิปัญญาที่สืบสานผ่านกาลเวลา
ครูวิไล จิตรเวช ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 เปิดเผยถึงการต่อยอดงานผ้ายกเมืองนคร ซึ่งเป็นผ้าในราชสำนักของชาวเมืองนครศรีธรรมราชมีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยผ้ายกเมืองนครนับเป็นหนึ่งในหัตถกรรมล้ำค่าที่สืบสานกันมายาวนานคู่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นผ้าทอลายโบราณ เช่น ลายพิกุลเถื่อนดอกลอย และลายพิกุลก้านแย่ง อีกทั้งมีการพลิกแพลงพัฒนาลวดลายเพิ่มเติม อย่างลายเกร็ดพิมเสน ที่นำลวดลายต่าง ๆ มาทอไว้ในผืนเดียว เช่น ลายกรวยเชิง 3 ชั้น , ลายหน้ากระดาน , ลายขลิบพิมเสน , ลายช่อแทงท้อง เป็นต้น พร้อมทอสังเวียนรอบผืน ทำให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาด สอดรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน และถือเป็นการสืบสานต่อยอดงานผ้ายกเมืองนครให้ยั่งยืน
ส่วนครูอารีย์ ขุนทน ครูช่างหัตถศิลปหัตถกรรม ปี 2563 กล่าวถึงที่มาของการสืบสานเทคนิคย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านหมู่บ้านคีรีวงที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ที่ได้คิดค้นนำพืชพรรณต่างๆ ในชุมชนมาใช้ทำสีย้อมผ้า เช่น เปลือกไม้ ใบ ผล ฝักสะตอ ผลเงาะ และไม้ขนุน และเทคนิคการมัดย้อมให้เกิดลวดลายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวคีรีวง คือการสร้างลวดลายด้วยการมัดผ้ากับไม้ไผ่เหลาซี่เล็ก และงานผ้าบาติกที่เขียนเทียนด้วยมือ ที่วาดลวดลายจากธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น ลายฝักสะตอ ลายสายน้ำ ลายภูเขา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสีสันของผ้าย้อมสีธรรมชาติจากหมู่บ้านคีรีวงที่ให้ความโดดเด่นสวยงามไม่เหมือนใคร
ด้านคุณนภารัตน์ ทองเสภี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 กล่าวว่า เครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นอีกหนึ่งหัตถกรรมไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตเครื่องจักสานนี้ใช้พืชตระกูลเฟิร์น หรือเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ย่าน” พบมากในป่าภาคใต้ของไทย มีคุณสมบัติเหนียวและทนทาน จึงเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของเครื่องจักสานย่านลิเภา โดยกลุ่มจักสานย่านลิเภาแห่งบ้านนาเคียน จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สืบสานเอกลักษณ์ของหัตถกรรมไทยที่ทำจากพืชธรรมชาติในท้องถิ่นนี้ นำมาสานด้วยความประณีตจากเทคนิคการสานของบรรพบุรุษ และยังนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ด้วยการปรับให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้เป็นสินค้าที่สามารถใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน
งานศิลปหัตถกรรมไทยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษ ถึงแม้กาลเวลาได้ผ่านร่วงไปแต่งานศิลปหัตถกรรมทรงคุณค่าก็ยังคงถูกสืบสานต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น และยังมีผู้ที่เห็นถึงคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมที่คอยสร้างสรรค์และอนุรักษ์ไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษชาวภาคใต้ไว้ไม่ให้หายสิ้นไปตามกาลเวลา