สสส. หนุน “จ.น่าน” เป็นจังหวัดแรก ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้นโยบาย “เมืองสุขภาพดี”
สสส. สานพลังเทศบาลเมืองน่าน UDC ม.แม้โจ้ หนุน “จ.น่าน” เป็นจังหวัดแรก ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้นโยบาย “เมืองสุขภาพดี” หรือ blue zone ของกระทรวงสาธารณสุข ชู “ชุมชนน้ำล้อม เทศบาลเมืองน่าน” ต้นแบบเมืองที่เป็นมิตรเพื่อผู้สูงอายุและทุกคน จัดทีมช่างชุมชนออกแบบ ปรับปรุงบ้านคนสูงอายุ คนพิการ ที่อยู่เพียงลำพัง
วันที่ 2 มี.ค. 2567 ที่ชุมชนบ้านน้ำล้อม ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ และผศ.ดร.วุฒิกานต์ ปุระพรหม หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การออกแบบและปรับปรุงบ้านพักของผู้สูงอายุตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน ในพื้นที่ที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและทุกคน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จ.น่านเป็นจังหวัดแรกที่ดำเนินส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้นโยบาย “เมืองสุขภาพดี” หรือ blue zone ของกระทรวงสาธารณสุข โดย สสส. ร่วมกับศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการขับเคลื่อนให้ จ.น่าน เป็น 1 ในจังหวัดต้นแบบเมืองที่เป็นมิตรกับทุกคน มุ่งพัฒนาพื้นที่สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สาธารณะต้นแบบ รวมถึงที่พักอาศัยของผู้สูงอายุและคนพิการ ให้มีสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และทุกคน ภายใต้แนวคิด “การออกแบบเพื่อทุกคน” หรือ Universal Design (UD) ซึ่งจะเอื้อให้คนกลุ่มนี้สามารถดำเนินชีวิต และออกจากบ้านมาใช้ชีวิต ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนในชุมชนได้อย่างอิสระ สะดวก ปลอดภัย ถือเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การมีสุขภาวะดีของคนกลุ่มนี้
“การขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบเมืองที่เป็นมิตรใน จ.น่าน มีชุมชนน้ำล้อม เป็นพื้นที่นำร่อง 1 ใน 31 ชุมชนของเทศบาลเมืองน่าน โดดเด่นในการสร้างต้นแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยในอนาคตมีแผนการสร้างที่อยู่อาศัยแบบหมุนเวียนสำหรับผู้สูงอายุและพิการยากไร้ด้วย เพราะมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่คนเดียวจำนวนมาก ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม มีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ เป็นส่วนหนึ่งของการรองรับสังคมสูงวัยและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย และเตรียมขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการปรับสภาพแวดล้อมและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ ตามแนวคิด UD ทั้งในส่วนของที่พักอาศัย สถานที่สาธารณะ และสถานที่ท่องเที่ยว โดยสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ Universal Design Center ในมหาวิทยาลัย 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้เรื่องการออกแบบ Universal Design แก่หน่วยงาน ประชาชน ที่สนใจ และให้คำปรึกษาในการปรับสภาพบ้านไปแล้วกว่า 785 หลัง จัดอบรมช่างชุมชนให้มีความรู้ในประเด็น UD สามารถไปดำเนินการปรับสภาพแวดล้อมในส่วนบ้านพักและสถานที่สาธารณะ รวมทั้งสนับสนุนมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เพื่อพัฒนาทูตอารยสถาปัตย์กว่า 300 คน มีทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ สามารถเป็นตัวแทนในการให้ข้อมูลและร่วมขับเคลื่อนประเด็นการปรับสภาพแวดล้อมและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกตามแนวคิด UD ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ผศ.ดร.วุฒิกานต์ ปุระพรหม หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า จ.น่าน เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 32%ของประชากรในพื้นที่ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาศัยอยู่เพียงลำพัง แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต จึงเริ่มต้นลงพื้นที่และได้เห็นศักยภาพของคนในท้องถิ่น แต่ยังขาดที่ปรึกษา และช่างชุมชนที่มีความรู้ด้าน Universal จึงริเริ่มดำเนินการพัฒนาให้ จ.น่านเป็นต้นแบบเมืองที่เป็นมิตรของภาคเหนือ โดยความร่วมมือของศูนย์ UDC จากสถาบันการศึกษา 5 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา โดยร่วมกับโรงพยาบาลน่าน เทศบาลเมืองน่าน ชมรมผู้สูงอายุ ภาคเอกชน มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่ รวบรวมความเห็นส่งต่อให้กองช่างไปดำเนินงานตลอดการทำงาน 2 ปีจนเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม
ผศ.ดร.วุฒิกานต์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน จ.น่าน มีการปรับภูมิทัศน์ ได้แก่ 1.ที่ชุมชนบ้านน้ำล้อม ต.ในเวียง อ.เมือง มีการจัดสภาพแวดล้อมบ้านผู้สูงอายุกลุ่มยากไร้และอยู่เพียงลำพัง โดยปรับปรุงห้องน้ำ บันได พื้นบ้าน จัดระเบียบของใช้ และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก 2.ศาสนสถาน มีการปรับปรุงพื้นที่ และอาคารสาธารณะ เช่น แก้ไขพื้นผิวทาง เพิ่มราวจับ 3.ตลาดชุมชนบ้านพระเนตร มีการปรับห้องน้ำสาธารณะ เพิ่มราวจับ 4.เตรียมสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย แบบไปเช้า-เย็นกลับ (DAYCARE) ที่โรงพยาบาลน่าน มีเนื้อที่ใช้สอย 700 ตารางเมตร เพื่อลดความแออัดในในโรงพยาบาล โดยออกแบบให้เป็นสถานบริบาลให้ผู้สูงอายุมาตรวจเช็คร่างกาย ทำกายภาพบำบัด รับยา และจัดร่วมกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำนอกบ้าน ไม่ต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ช่วยลดความกังวลของบุตรหลาน
นายณกรณ์ ศิริรัตน์พิริยะ รองนายกเทศบาลเมืองน่าน กล่าวว่า เทศบาลเมืองน่านได้ปรับปรุงสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้แก่ อาคารจามจุรี อาคารพญานาคของศูนย์ท่องเที่ยวเมืองน่าน และอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน และยังบูรณาการทำงานกับหลายฝ่ายในการสำรวจชุมชนเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมตามความต้องการของประชาชน โดยเทศบาลเมืองน่านได้ส่งทีมประเมินบ้านของผู้สูงอายุ คนพิการ เป็นประจำ และมีทีมอนุกรรมการลงพื้นที่สำรวจเยี่ยมบ้านทุกวันพุธ เพื่อนำข้อเสนอต่างๆของประชาชนนำไปวางแผนการพัฒนาให้เหมาะสม นอกจากนี้ยังได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ โรงพยาบาลน่าน จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย สมาคมสถาปัตย์ภาคเหนือ และวิทยาลัยชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาแนวทางการทำงาน UD ในจ.น่าน ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง