ในประเทศ

สภาเด็กฯและเครือข่ายเปิดเวทีระดมความเห็นเรียกร้องรัฐบาลให้ปกป้องเด็ก เยาวชนจากภัยน้ำเมา

สภาเด็กฯและเครือข่ายเปิดเวทีระดมความเห็นเรียกร้องรัฐบาลให้ปกป้องเด็ก เยาวชนจากภัยน้ำเมา แก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามโฆษณา ห้ามใช้ตราเสมือน เอาผิดจริงจังคนเมาแล้วขับ ส่วนคนขาย ต้องมีส่วนรับผิดชอบ  และคัดค้านเพิ่มเวลาขาย

เมื่อวันที่ 23 เมษายน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่พนัน เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นต่อกรณีการขยายเวลาเปิดสถานบริการ ร้านเหล้าผับบาร์ ตลอดจนความพยายามลดทอนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐ

นายอดิศร แก้วเล็ก รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้สถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมและสถานบริการในกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เปิดบริการได้ถึง 04.00 น. โดยอ้างว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น และให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการขยายกำหนดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไป ให้สอดคล้องกับเวลาเปิด-ปิดสถานเหล่านั้น พร้อมทั้งคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

ล่าสุดรัฐบาลมีนโยบายผ่อนปรน ลดทอนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งหากขยายเวลาเพิ่ม จะส่งผลกระทบมากขึ้นเท่าตัว ประเทศก็จะรับความเสียหาย เสียงบประมาณในการดูแลรักษามหาศาล ไม่นับรวมค่าเสียโอกาสจากการทำงานและอื่นๆ ซึ่งประมาณการความสูญเสียไม่ได้ จึงเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ทางเครือข่ายจึงต้องการให้รัฐบาลทบทวนและพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาให้มากทั้งต่อบุคคล ครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมระดมความคิดเห็น มีความห่วงใยและมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงเวลา 04.00 น. ในสถานบริการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นำร่อง และสถานที่อื่นตามเป้าหมายของรัฐบาล รัฐบาลควรเร่งทบทวนหาข้อสรุปถึงผลได้ผลเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่นำร่องเหล่านั้น เพื่อนำมาสู่การทบทวนและคงข้อจำกัดเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย ตามเดิม 2. ขอให้รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มโทษคนดื่มแล้วขับโดยเฉพาะกรณีที่มีการเสียชีวิต ให้ผู้ก่อเหตุได้ติดคุกจริง บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด ไม่ยกเว้นทุกกรณี ไม่รอลงอาญา และมีมาตรการป้องกันการทุจริตจากเจ้าหน้าที่รัฐ

3.ขอให้การแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 พิจารณาไม่ให้มีการโฆษณา รวมถึงตราเสมือน ไม่ให้ขายผ่านทางออนไลน์ เพิ่มบทลงโทษการขายให้เด็กและคนเมาขาดสติ ให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมรับผิดชอบ กรณีขายให้คนเมาขาดสติหรือเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แล้วไปเกิดอบัติเหตุ และระบุผลกระทบให้ชัดเจนบนฉลากผลิตภัณฑ์ 4. ขอคัดค้านข้อเสนอให้ขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษา และสถานที่ราชการ และขอเรียกร้องให้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รอบสถานศึกษา และ 5. ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการปกป้องเด็กและเยาวชน จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ส่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการเจริญเติบโตที่ดีของเด็กและเยาวชน ตลอดจนรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง