ในประเทศ

ภาคีเครือข่ายป้องกันปัจจัยเสี่ยง ให้กำลังใจครอบครัว เหยื่อตำรวจเมาแล้วขับ

ภาคีเครือข่ายป้องกันปัจจัยเสี่ยง รุดให้กำลังใจครอบครัว เหยื่อตำรวจเมาแล้วขับ 2 แม่ลูกเสียชีวิต ส่วนพ่อบาดเจ็บสาหัส พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้องผู้ว่ากำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือและดำเนินคดีตรงไปตรงมา 

เมื่อเร็วๆนี้ ภาคีเครือข่ายป้องกันปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและสังคมภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วยเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนล่าง สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะภาคใต้ สมาคมเยาวชนพัฒนาบ้านเกิด (PPS) เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (ALC WATCH) และกองทุนช่วยเหลือเด็กเยาวชนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเมา ได้เดินทางลงพื้นที่บ้านตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อเยี่ยมครอบครัวผู้สูญเสียกรณีเหตุการณ์นายตำรวจสังกัดสถานีตำรวจภูธรระแงะ จ.นราธิวาส ขับขี่รถยนต์ขณะมีอาการมึนเมาจากการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนชาวบ้าน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ 2 ราย ประกอบด้วย 1. นางสาวนูรฮาฟีซา เจ๊ะแม อายุ 23 ปี (มารดา) 2.ด.ช.มูฮำหมัดชามิล อาแว อายุ 3 ขวบ (ลูก) และบาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย (พ่อ)

นายวันอาฟันดี เจ๊ะสาเหาะ  ตัวแทนเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า  จากการลงพื้นที่ ครอบครัวผู้สูญเสียมีความเสียใจมาก ๆ และยังทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้วิงวอนและเรียกร้องขอความเป็นธรรม การเยียวยา และให้มีการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด พร้อมกันนี้ ทางภาคีเครือข่ายฯ ได้มอบเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือเด็กเยาวชนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเมา 10,000 บาท และกองทุนจากเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต 5,000 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวในเบื้องต้น

“ต่อมา เวลา 14.30 น. ภาคีเครือข่ายฯ ได้นำครอบครัวผู้สูญเสียเดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ศุภชัช ยีหวังกอง ณ พัทลุง ผกก.สภ.ระแงะ เพื่อสอบถามความคืบหน้าทางคดี ซึ่งล่าสุดทราบว่าได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้วจำนวน 3 ข้อหา ประกอบด้วย 1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส 2. ขับรถในขณะมึนเมาสุรา โดยปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินที่กฎหมายกำหนด 3. ขับรถประมาทหวาดเสียวเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ซึ่งทาง พ.ต.อ.ศุภชัช ย้ำว่าจะดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมาด้วยความเป็นธรรม ว่ากันไปตาม พรบ.จราจรทางบก และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่าไม่มีอภิสิทธิ์ใด ๆ แม้ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็ตาม” นายวันอาฟันดี กล่าว

นายวันอาฟันดีกล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเวลา 15.30 น. ภาคีเครือข่ายฯ ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดนราธิวาส เพื่อยื่นหนังสือ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนราธิวาส โดยมีข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1. ขอให้เร่งดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดต่อผู้กระทำผิดในกรณีนี้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ซ้ำยังเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ) อย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งทางวินัย ทางอาญา และทางแพ่ง โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น 2. ขอให้มีการเยียวยาความเสียหายทั้งทางจิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม ให้แก่ผู้เสียหายและครอบครัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยคำนึงถึงความยุติธรรมและเป็นธรรมเป็นสำคัญ และ 3. จังหวัดนราธิวาสต้องมีการออกมาตรการและกำหนดระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในการป้องกันและป้องปรามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำความประมาทเลินเล่อจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเกิดอาการมึนเมาครองสติไม่ได้ จนนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์อันมิอาจประเมินความสูญเสียในลักษณะดังกล่าวซ้ำอีกในอนาคต

ด้านนายอับดุลปาตะ ยูโซะ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) พื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งสร้างความสะเทือนขวัญและเศร้าสลดเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยทางเครือข่ายฯ และครอบครัวผู้เสียหายเรามีความกังวลว่า การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย เกรงว่าในระหว่างที่สังคมกำลังเกาะติดและให้ความสนใจ ก็จะมีการให้คำมั่นต่าง ๆ นา ๆ แต่เมื่อข่าวเริ่มเงียบ สังคมเริ่มที่จะแผ่วลง การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมก็อาจจะไม่ได้เดินหน้าเท่าที่มันควรจะเป็น จึงขอวิงวอนให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ครอบครัวผู้เสียหาย พร้อมทั้ง ขอให้ภาครัฐและผู้ก่อเหตุดูแลเรื่องการเยียวยาต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในมิติของสภาพจิตใจของผู้เสียหายและครอบครัว เพราะตัวสามีที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล ตอนนี้ก็ยังไม่ทราบข่าวการเสียชีวิตของภรรยาและลูก ซึ่งกรณีนี้ก็ค่อนข้างจะสลดใจ รวมถึงการเยียวยาในมิติเศรษฐกิจและสังคมด้วย เพราะครอบครัวผู้เสียหายก็มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากพอสมควร เพราะฉะนั้นการให้ความช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ ทั้งการเยียวยาตามกฎหมายและระบบขั้นตอนของราชการ ตลอดจนการได้รับการเยียวยาจากตัวผู้ต้องหาในฐานะผู้กระทำความผิด ก็ควรที่จะมีเงินเยียวยามาดูแลครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย

“อีกกี่ชีวิต อีกกี่ครอบครัว อีกกี่เหตุการณ์ ที่จะได้รับผลกระทบจากสุรายาเมา ขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์สุดท้ายที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้านและสังคมไทย หวังว่าเคสเมาแล้วขับในพื้นที่ อ.ระแงะ ในครั้งนี้ จะนำไปสู่บทเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และร่วมด้วยช่วยกันปลุกสังคมให้ตื่นรู้ถึงภัยเงียบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นายอับดุลปาตะ กล่าว