ในประเทศ

“นักวิชาการชี้”ปาร์ตี้เอ็นเตอร์เทนเหล้ายาเสพติดเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

“นักวิชาการชี้” ปาร์ตี้เอ็นเตอร์เทน เหล้ายาเสพติดเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต  ด้านองค์กรสตรีวอนสังคมอย่าโทษผู้หญิง ทุกอาชีพไม่ควรมีใครละมิดเสิทธิ ชี้มีคนหาประโยชน์จากวงการนี้ เตรียมชงภาครัฐตรวจสอบเข้าข่ายความผิดฐานค้ามนุษย์

วันนี้ (2มีนาคม) ศ.ดร.พญ.สาวิตรี  อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า จากกระแสข่าวที่พบพฤติกรรมมั่วสุมในงานเลี้ยงปาร์ตี้  ปัจจุบันถูกมองเป็นกิจกรรมบันเทิงที่มีแนวโน้มมั่วสุมยาเสพติด และกิจกรรมทางเพศ อาชีพพนักงานเอนเตอร์เทน ที่ใช้หญิงสาวหน้าตาดี บุคลิกดี ให้ค่าตอบแทนสูง ขึ้นอยู่กับลักษณะของการรับงาน เช่น แค่เป็นเด็กชงเหล้า กินเหล้าเป็นเพื่อน ต้องอัพยาในปาร์ตี้ หรือมีเซ็กส์ แม้ว่าค่าตอบแทนจะมาก แต่ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นตามรายได้ เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำร้ายร่างกาย มอมยา มอมเหล้า เสียชื่อเสียง ใช้ยาเกินขนาด มีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินขนาดจนเป็นพิษ ร้ายแรงที่สุดคือการเสียชีวิต และความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

“เหล้าและยาเสพติด มักเป็นส่วนหนึ่งของงานปาร์ตี้ สาวเอ็น หรือพริตตี้ ดื่มและเสพในปริมาณที่มาก ภายในเวลาอันสั้น ยิ่งทวีความรุนแรง เพราะการดื่มเหล้าร่วมกับใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทตัวอื่น เช่น ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ยาอี ไอซ์ จะเพิ่มอันตรายอย่างมาก ยกตัวอย่างที่เห็นบ่อยๆคือ ดื่มเหล้าร่วมกับใช้ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ตัวที่รู้จักกันดี เช่น แวเลียม ซาแนก มีการใช้เป็น “ยาเสียสาว” หรือ “ยาปล้นสวาท” มีฤทธิ์กดประสาท เมื่อใช้ร่วมกับเหล้า จะยิ่งทำให้เคลิ้ม เผลอตัว ควบคุมสติไม่ได้ ขาดความยับยั้งชั่งใจ เคลื่อนไหวทรงตัวและสัมผัสไม่ดี นอกจากนี้ ยังมีอาการง่วงซึม หมดสติ โคม่า กดการหายใจ และตายได้ บางรายอาจสำลักอาหารหรือน้ำเข้าไปในทางเดินหายใจและปอด ทำให้ปอดติดเชื้อและปอดบวม ส่วนกรณีที่ดื่มเหล้าร่วมกับยา เช่น ยาบ้า ยาอี ไอซ์ ยาเค มักพบบ่อยในกลุ่มเที่ยวสถานบันเทิง ทำให้เรียกยากลุ่มนี้ว่า “ยาบันเทิง” หรือ “คลับดรักส์” ผู้ใช้จะมีอารมณ์ครึกครื้นรื่นเริงผิดปกติ ตื่นเต้นพลุ่งพล่าน ประสาทหลอน หวาดระแวง หลงผิด คิดว่ามีคนมาทำร้าย ขาดความยับยั้งชั่งใจ มีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น ควบคุมตนเองไม่ได้  ส่วนผลทางร่างกาย เช่น อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูง หน้าแดง ตัวแดง ม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด เดินเซ หกล้ม และในระยะยาวยังเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลายชนิดอีกด้วย” ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าว

นายจะเด็จ  เชาวน์วิไล  ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า อาชีพนี้เป็นทางเลือกที่เสี่ยงพอสมควร เพราะงานแบบนี้สามารถเรียกไปบริการเป็นการส่วนตัว ซึ่งคนที่ดูแลอาชีพแบบนี้ หรือบรรดาโมเดลลิ่งแทบไม่ต้องรับผิดชอบอะไร กรณี วาวา หรือลาลาเบล เขาก็เป็นแรงงานคนหนึ่ง ที่ต้องมีความคุ้มครองและดูแลเขา ถ้าเกิดมีทางเลือกอื่น ผู้หญิงคงไม่มาเลือกอาชีพแบบนี้ ดังนั้นบรรดาโมเดลลิ่ง ต้องรับผิดชอบมากกว่านี้ คุณจะป้องกันคุ้มครองเขาอย่างไร  หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องขบคิด ว่าจะสร้างทางเลือกอาชีพของผู้หญิงด้วยความหลากหลาย ให้มากกว่านี้ได้อย่างไร เพราะหลายอาชีพ ผู้หญิงยังถูกเลือกปฏิบัติ พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น ผู้หญิงก็ถูกตีตรา ดูถูก ซึ่งอยากให้เข้าใจว่า คนที่ทำอาชีพนี้เขาต้องแบกรับอะไร บางคนทำงานคนเดียวแบกรับภาระทั้งครอบครัว พ่อแม่ ลูก สามี ไม่ว่าจะอาชีพอะไร ต้องมีความปลอดภัยมีการคุ้มครอง

ด้านนายชูวิทย์  จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ปาร์ตี้ในพื้นที่ส่วนตัว กำลังเป็นเทรนด์ของกลุ่มคนที่มีฐานะ  เพราะไม่มีกำหนดเวลาเปิดปิด ตำรวจไม่วุ่นวายมาตรวจจับ เหมือนร้านเหล้าผับบาร์  มันเป็นการพัฒนารูปแบบ ที่ตอบสนองกิเลสของผู้คนกลุ่มนี้ อย่างเมื่อก่อน มีสาวเชียร์เบียร์เซ็กซี่ ผู้ชายก็จะชอบดื่ม ยิ่งอุตสาหกรรมเหล้าเบียร์โหมโฆษณาแนวเซ็กซี่มาร์เก็ตติ้ง ยิ่งไปกันใหญ่ ปัจจุบัน เมื่อสาวเชียร์เบียร์เข้าข่ายความผิด มีกฎหมายควบคุมเรื่องการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงหลบเลี่ยง กลายสภาพเป็นดื่มในพื้นที่ลับส่วนตัวกฎหมายเข้าไปไม่ถึง

“อาชีพนี้มีคนที่ได้ประโยชน์เต็มๆ คือนายหน้าโมเดลลิ่ง แทบไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ความเสี่ยงทุกอย่างตกอยู่กับผู้หญิงฝ่ายเดียว  พอดื่มเหล้าเบียร์ หรือเสพยา เมาครองสติไม่ได้ นำไปสู่การลวนลามล่วงละเมิดทางเพศ และอาจเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น การที่โมเดลลิ่ง ส่งหญิงสาวไปทำงานที่สุ่มเสี่ยงแบบนี้  มีคนได้ประโยชน์จากการกระทำนี้ อาจจะเข้าข่ายความผิดใน “การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น” ตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ด้วยหรือไม่  ซึ่งเครือข่ายฯจะมีการหารือและเคลื่อนไหวเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ” นายชูวิทย์ กล่าว