สสส.ผนึก สอจร.สคอ. รณรงค์สร้างจิตสำนึกผู้ขับขี่ “สวมหมวกกันน็อกปลอดภัย สวมหน้ากากอนามัยปลอดโควิด-19”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.) ร่วมกับ คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ(สคอ.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “สวมหมวกกันน็อกปลอดภัย สวมหน้ากากอนามัยปลอดโควิด-19” โดยนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เห็นว่าพฤติกรรมของคนสามารถปรับเปลี่ยนได้ ดังนั้น สสส.จึงเชื่อว่าการรณรงค์แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอยู่เป็นประจำ จะทำให้พฤติกรรมของผู้ขับขี่เปลี่ยนได้เช่นเดียวกัน จากสถิติข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนพบผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คน/ปี ขณะที่สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่เฉลี่ยอายุ15-19 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สื่อสารและทำความเข้าใจเรื่องอุบัติเหตุยาก สสส.จึงพยายามทำงานร่วมกับองค์กรและโรงเรียน โดยเชิญชวนกลุ่มเยาวชนเข้ามาเป็นภาคี เพื่อช่วยเป็นกระบอกเสียงและสอดส่องดูแล สามารถกล่าวตักเตือนได้หากพบเพื่อนเข้าข่ายเกิดความเสี่ยง นอกจากนี้สสส.ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ผ่านการขับเคลื่อนงานเชิงวิชาการ อาทิ สนับสนุนให้มีศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เพื่อเป็นแกนกลางหลักค้นหาข้อมูลต่างๆมาประกอบในข้อเสนอเชิงนโยบาย ในการปฏิบัติของภาคสนาม รวมถึงส่งเสริมการทำงานของพี่เลี้ยงสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) โดยสอจร.จะทำหน้าที่หาข้อมูลและสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละพื้นที่ พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ตรงตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ
“อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เกิดอยู่รอบบ้านในรัศมี 5 กิโลเมตร ทั้งนี้ยังพบอีกว่า มากกว่าร้อยละ50 เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สวมหมวกนิรภัย ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนงดดื่มเหล้า รวมถึงสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ เพื่อลดการบาดเจ็บทางศีรษะ ลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ อย่างไรก็ตามหมวกกันน็อกเปรียบเหมือนวัคซีนโควิด ที่ช่วยลดทอนความรุนแรงของโรค ที่สำคัญอยากชวนให้คิดว่าโควิดยังอยู่กับเราไปอีกนานแต่ที่นานกว่าคือเรื่องของอุบัติเหตุทางถนน แม้ที่ผ่านมาสถานการณ์จะดีขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีผู้เสียชีวิตอยู่ทุกชั่วโมง เพราะฉะนั้นอยากฝากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลเตือนตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ด้านพล.ต.ต.อานนท์ นามประเสริฐ ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างการรับรู้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุตำรวจภูธรภาค 4 กล่าวว่า ในอดีตมองว่าการบังคับใช้กฎหมายจะทำให้คนกลัว ไม่กล้าฝ่าฝืนกฎจราจรและสามารถลดอุบัติเหตุได้ แต่ตัวเลขอุบัติเหตุยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากวิธีนี้ใช้ไม่ได้กับทุกพื้นที่ เราจึงปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ โดยนำความรู้จากการเป็นพี่เลี้ยง สอจร. มาถ่ายทอดให้ สอจร.ระดับอำเภอและภาคีเครือข่าย เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมบูรณาการให้คนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพบูรณาการป้องกันอุบัติเหตุ ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม บังคับใช้กฎหมาย เช่น ตั้งกองร้อยอาสาจราจรหรือกองร้อยน้ำหวาน เข้ามาดูแลการจราจรในระดับชุมชนและทำหน้าที่ตักเตือนผู้ทำผิดกฎจราจรเป็นหลัก โดยอาสาสมัครทุกคนต้องเป็นผู้หญิงวัยกลางคนและต้องผ่านการอบรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากการทดลองในช่วงแรกค่อนข้างได้ผลดี
“อยากเชิญชวนศิลปินดารามาร่วมณรงค์แก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน ผ่านโซเชียลมีเดียในช่องทางของตนเอง เพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มต่างๆเกิดการรับรู้ว่า การเกิดอุบัติเหตุสามารถป้องกันได้หลายวิธี เช่น สวมหมวกนิรภัย ไม่ดื่มเหล้า งดใช้ความเร็ว หรือ หมวก เมา เร็ว ท่องไว้ให้จำขึ้นใจให้เตือนลูกหลานและคนใกล้ตัวอุบัติเหตุป้องกันได้ด้วยตัวของเราเอง” พล.ต.ต.อานนท์ กล่าว
ขณะที่นางสาวพัชร์สิตา(เกรซ) อธิอนันตศักดิ์ ในฐานะศิลปินดาราและผู้ทำงานด้านอาสาสมัคร กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการทำงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาจากความอยากรู้อยากเห็นวิธีการทำงานของกู้ภัย จึงตัดสินใจมาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จึงได้เห็นว่าร้อยละ70 ของการออกปฏิบัติหน้าที่ ส่วนใหญ่มาจากอุบัติเหตุทางท้องถนนและเกินครึ่งของอุบัติเหตุเกิดจากผู้ขับขี่จักรยานยนต์เป็นหลัก ส่วนสาเหตุส่วนมากมาจากการดื่มเหล้าและไม่สวมหมวกนิรภัย จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไม่ประมาท และป้องกันตนเองจากอุบัติเหตุ โดยนำองค์ความรู้จากการอบรมด้านการช่วยเหลือฉุกเฉิน มาสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและสามารถช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเบื้องต้นได้ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการสวมหวกนิรภัย เพราะหมวกสามารถป้องกันส่วนสำคัญและสามารถลดทอนความเจ็บปวดได้
“ก่อนเป็นอาสาสมัครไม่เคยเห็นความสำคัญของการสมหมวกกันน็อก หากมองในแง่ของประชาชนอาจมองว่าการเดินทางที่ใช้เวลาแป๊บเดียวไม่จำเป็นต้องสมหมวกก็ได้ แต่หลังจากที่ทำงานเป็นอาสาสมัครจึงรู้ว่าเวลาเพียงแป๊บเดียว ทำให้อุบัติเหตุสามารถเล่นงานเราได้อย่างไม่คาดคิด อย่างไรก็ตามหมวกกันน็อกเปรียบเหมือนเป็นเครื่องช่วยหายใจ ถ้าหากสวมเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เราก็กลับไปหายใจได้อีกครั้ง แต่ถ้าไม่สวมหมวกเราอาจไม่มีโอกาสได้หายใจอีกเลย” นางสาวพัชร์สิตา กล่าว