ในประเทศ

วธ.จัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 239 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” เข้าชมในรูปแบบเสมือนจริง

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)        มีนโยบายเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม จึงได้จัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 239 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ     ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี รวมถึงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรีและเนื่องในโอกาสครบรอบ 239 ปีแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  โดยการจัดแสดง “นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 10 รัชกาล” ระหว่างวันที่ 21-30 เมษายน 2564  ณ  ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)   ดังนั้น  เพื่อให้การจัดงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง  จึงดำเนินการในรูปแบบเสมือนจริง(Virtual Event) ใช้เทคโนโลยีที่มีรูปแบบสำหรับการจัดกิจกรรมในลักษณะเสมือนผู้เข้าชมอยู่ในสถานที่จัดงานจริงผ่านระบบออนไลน์โดยเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยสแกนผ่าน QR code

หรือคลิ๊กผ่านลิงก์ www.ใต้ร่มพระบารมี239ปีกรุงรัตนโกสินทร์.com

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า งานครั้งนี้ กิจกรรมแรกเป็น นิทรรศการพระมหากรุณาธิคุณ 10 รัชกาล ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวแห่งพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้   ของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ นับตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 1 มาถึงพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งแผ่นดินผ่านวิดีโอและแอนิเมชันทั้งหมด 10 ตอน ได้แก่ 1.ปฐมกาลแห่งแผ่นดิน 2.งานศิลป์งามวรรณกรรม 3.เลิศล้ำเศรษฐกิจ 4.เฟื่องฟูแนวคิดอารยะ 5.เรืองวัฒนะ    สู่สากล 6.มากล้นการศึกษา 7.คุณค่าประชาธิปไตย 8.หลอมรวมใจสามัคคี 9.พระบารมีสถิตใจและ10.เพื่อผองไทยเพื่อแผ่นดิน  กิจกรรมที่สอง เป็นนิทรรศการแสดงภาพเก่าเล่าเรื่องกรุงรัตนโกสินทร์ รับชมภาพถ่าย       อันทรงคุณค่าที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์และแสดงถึงวิวัฒนาการบ้านเมือง เช่น วิถีชีวิต ย่านชุมชน สาธารณูปโภค การศึกษา เศรษฐกิจ การค้า สถาปัตยกรรม  และกิจกรรมที่สาม เป็นการสาธิตอาหารไทยพื้นบ้านที่หาชิมและหาชมได้ยากและแสดงถึงวัตถุดิบส่วนผสมที่มีผักและสมุนไพรที่มีประโยชน์  ต่อสุขภาพ รวมถึงการสาธิตขั้นตอนการทำที่เกิดจากวิถีชีวิตและภูมิปัญญามาผสานกันจนเกิดเป็นวัฒนธรรมการกินในแต่ละท้องถิ่นประกอบด้วยอาหารคาว เช่น  แกงต้มเปรอะ ต้มยำปลาช่อนสูตรโบราณและอาหารหวาน เช่น ขนมพระพาย ขนมบุหงาบูดะ เป็นต้น

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า  กิจกรรมที่สี่เป็นการออกร้านจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย(CPOT) แต่ละร้านค้ามีสินค้าทั้งของกิน ของใช้และของที่ระลึกที่แสดงถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของ แต่ละภาคและแต่ละจังหวัด จำนวนทั้งหมด 80 ร้าน  อาทิ ร้านค้าภาคเหนือ เช่น ร้านมนตรีเครื่องเงินสุโขทัย จ.สุโขทัย ร้านเทียนอบขนมทองตะนาว จ.อุทัยธานี  ร้านค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ร้านผ้าฝ้ายทอมือผาสิงห์ จ.อุดรธานี ร้านผ้าคลุมไหล่ภูอัคนี จ.บุรีรัมย์ ร้านค้าภาคกลางและภาคตะวันออก  เช่น ร้านเครื่องปั้นดินเผา    จ.นนทบุรี ร้านต้นพลอย จ.ตราด และร้านค้าภาคใต้ เช่น ร้านบาติกยางกล้วย จ.สงขลา ร้านกลุ่มสหกรณ์    กริชรามันห์ จ.ยะลาและ  กิจกรรมสุดท้านเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมโดยศิลปินแห่งชาติ เช่น วินัย พันธุรักษ์ เรือตรีสันติ ลุนเผ่ บานเย็น รากแก่น รุ่งฤดี แพ่งผ่องใสและการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ได้แก่ สมาคมลิเกประเทศไทย สมาคมอุปรากรจีน สมาคมศิลปินขับซอล้านนา สมาคมกลองและศิลปะการแสดงล้านนา สมาคมศิลปินพื้นบ้านอีสานใต้ ศิลปินพื้นบ้านจังหวัดนครพนม สหพันธ์สมาคมโนราแห่งประเทศไทยและสมาคม    หนังตะลุงปักษ์ใต้ รวมทั้งการเสวนาทางวิชาการเรื่อง“รอยประพาสปิยมหาราชเสด็จยุโรป”และ“ภูมิศาสตร์   คุ้งน้ำบางกอกกับการตั้งเมืองกรุงเทพฯ”

ทั้งนี้ วธ.ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษาและประชาชนเข้ามาชมงานในรูปแบบออนไลน์เพื่อศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ประเพณีและศิลปวัฒนธรรมของกรุงรัตนโกสินทร์นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนสินค้า CPOT ของแต่ละจังหวัด เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง