ในประเทศ

วช. ผนึกกำลัง สถาบันวัคซีนแห่งชาติ พัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนระดับปริญญาโทและเอก ระยะเวลา 5 ปี

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.00 น. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดพิธีแถลงข่าวความร่วมมือ การส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม และบุคลากรการระดับปริญญาโทและปริญญาเอก วิจัยและนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัคซีน ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ณ เวที Highlight Stage ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยมีรองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานและสักขีพยาน และกล่าวว่า ในนามตัวแทน อว.ขอบคุณทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนร่วมมือกัน หลายสิ่งที่หวังว่าจะประสบความสำเร็จเชื่อว่าจะสำเร็จอย่างแน่นอนในการทำงานวิจัยให้ออกมาเป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ หรือ สวช. โดย นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(สวช.) ได้เห็นชอบร่วมกันในการสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม และบุคลากรการวิจัยและนวัตกรรมระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัคซีน การร่วมมือในครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 ซึ่งสวช.มีบทบาทอย่างมากในการทำให้ประเทศไทยเดินหน้าก้าวพ้นวิกฤต โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) สนับสนุนความร่วมมือในงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัคซีนกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ 2) พัฒนานักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และสร้างความร่วมมือในงานวิจัยระหว่างหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา เพื่อความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัคซีนของประเทศในภาพรวม โดยใช้ประสบการณ์ของทั้ง วช.  สวช. และสถาบันการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 3) เพิ่มจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาเฉพาะด้านที่เป็นความต้องการของหน่วยงาน และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้โดยตรง โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้เป็นการสนับสนุนทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกคุณภาพสูงที่อยู่ภายใต้ทุนพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยของ วช. เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2568 ซึ่งมีผลงานวิจัยคุณภาพในระดับสากล โดยอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเองด้วยการสร้างความร่วมมืออย่างกว้างขวางของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ดร.วิภารัตน์ ผอ.วช. กล่าวต่อว่า การทำงานจะเป็นเรื่องความร่วมมือของเครือข่ายหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยวช.และสวช.ร่วมดำเนินการและพิจารณาหัวข้อวิจัย นักศึกษาผู้รับทุน สนับสนุนทุนวิจัย และการดำเนินงานวิจัยส่วนอื่นๆให้แก่นักศึกษาผู้รับทุนที่อยู่ภายใต้ทุนต่างๆ เช่น ทุนพัฒนาบัณฑิตศึกษา,ทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม(พวอ.) และทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก(คปก.) ส่วนกรอบงานจะดูเรื่องนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและกำลังคนคือสถาบันอุดมศึกษาต่างๆทางสวช.จะเข้ามาเสริมเรื่องของค่าวิจัย โดยพิจารณาจากหัวข้อโครงการวิจัยและงบที่ได้รับในแต่ละปี ในปีนี้(2564)จะเริ่มต้นไว้จำนวน 5 ทุน โดยเบื้องต้นจะสนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบตัวเงิน(in cash) แต่ละปี

โดยทุนพัฒนาบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโท จำนวนไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท และปริญญาเอก ไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท ,ทุนโครงการพัฒนานักวิจัยแลงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม(ทุน พวอ.) ปริญญาโท ไม่ต่ำกว่า 100,000บาทต่อโครงการ ระยะเวลา 2 ปี ปริญญาเอก ไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท ต่อโครงการระยะเวลา 3ปี และกรณีหลักสูตรระดับปริญญาโท ต่อเนื่องปริญญาเอก ไม่ต่ำกว่า 250,000 บาทระยะเวลา 5 ปีต่อโครงการ ,ส่วนทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก(ทุนคปก.) หลักสูตรระดับปริญญาเอกไม่ต่ำกว่า 150,000 บาทระยะเวลา 3 ปีต่อโครงการ ระดับปริญญาโทต่อเนื่องปริญญาเอก ไม่ต่ำว่า 250,000 บาท ระยะเวลา 5 ปีต่อโครงการ

ผอ.วช. กล่าวต่อว่า ในนามของวช.ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สวช.ได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพนักวิจัยในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่มีความสามารถสูงในด้านวัคซีนต่อไปในอนาคตและจะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศในการก้าวพ้นในภาวะวิกฤต ซึ่งวช.มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้กรอบความร่วมมือดังกล่าวประสบผลสำเร็จตามเจตนารมย์ที่วางไว้ทุกประการ

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่า สวช.ขอบคุณ วช.ที่ร่วมมือครั้งนี้และเป็นโอกาสสำคัญในการผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนของประเทศ เพราะในช่วงวิกฤต โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้งานด้านวัคซีนทุกคนเห็นความสำคัญ ส่วน สวช.ภายใต้ พรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ เรากำหนดนิยามของคำว่าความมั่นคงด้านวัคซีนว่า “ประเทศไทยต้องมีวัคซีนเพียงพอทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน”  เพียงแค่นี้ก็มีความยากอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้มีวัคซีนเพียงพอกับความต้องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตลอดเวลา รวมถึงในภาวะฉุกเฉิน(กรณี โควิด-19) ทำอย่างไรที่เราจะสามารถวิจัยและผลิตวัคซีนเองได้อย่างทันท่วงที ซึ่งงานด้านวัคซีนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสั่งสม บ่มเพาะและต้องปลูก ปัจจัยสำคัญคือกำลังคนของเรา ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรด้านวัคซีน ประกอบกับงานด้านวัคซีนมีความกว้างขวางมาก ตั้งแต่ห้องปฏิบัติการ การวิจัยตัวเชื้อไวรัสที่มีขนาดเล็กมาก จนถึงสัตว์ทดลองและไปถึงการผลิตวัคซีนที่มีจำนวนมาก คือ 100-200 ล้านโดสต่อปี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต้องการคนที่มีประสิทธิภาพทั้งสิ้น การพัฒนาคนตั้งแต่ต้นน้ำที่ สวช.ร่วมกับวช. จึงเป็นจุดที่สำคัญอย่างยิ่ง ก่อนมีการถ่ายโอนภารกิจมาที่ วช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)เดิมได้มีการทำเรื่องนี้มาแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 2558 จนมีการถ่ายโอนวช. ทั้งหมดคือการวางรากฐานสำคัญ