สสส. – ภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “Young สุข Young ไม่เสี่ยง” ดึง เยาวชนเป็นพลังสื่อสาร ชวนเพื่อนลด ละ เลิกอบายมุขทุกชนิด
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ โรงแรมอวานี อำเภอเมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “Young สุข Young ไม่เสี่ยง” ภายใต้โครงการ “สานพลังเยาวชนอีสาน ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง” มีเป้าหมายสร้างการรับและความเข้าใจปัจจัยเสี่ยงเรื่อง เหล้า บุหรี่ และการพนัน กับเด็กและเยาวชน นำร่อง 21 โรงเรียนในเครือข่ายภาคอีสาน เตรียมขยายผลสู่โรงเรียน ครอบครัว และชุมชนทั่วประเทศให้มีสุขภาวะดีอย่างยั่งยืน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนเข้าใกล้ปัจจัยเสี่ยง เช่น เหล้า บุหรี่ การพนัน รวมทั้งอบายมุขอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ สสส. ให้ความสนใจและพร้อมที่เข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้ รณรงค์ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหามาตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา และจากรายงานการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรไทย ปี2564โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี อยู่ที่ร้อยละ 12.7 ซึ่งลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 15.4 ขณะที่ข้อมูลนักสูบหน้าใหม่ในปีเดียวกัน พบนักสูบหน้าใหม่ที่สูบบุหรี่ไม่เกิน 1 ปี จำนวน 211,474 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 73.7 เริ่มสูบบุหรี่ในช่วงอายุ 15-19 ปี ขณะที่อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วงปี 2547 – 2564 พบว่า การดื่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 23.5 – 29.5 และในปี 2564 ลดลงเหลือร้อยละ 20.9 หรือคิดเป็นประมาณ 1.9 ล้านคน ส่วนสถานการณ์พนันมีการสำรวจประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าร้อยละ 98.9 เกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนรอบข้างเล่นการพนัน โดยมีเยาวชนที่อายุ 15-25 ปี เล่นการพนันจำนวน 4.3 ล้านคน และมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นปัญหาอยู่ 6 แสนคน
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ได้สนับสนุน โครงการ “สานพลังเยาวชนอีสาน ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง” ตั้งแต่ปี 2563 โดยมีมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จ.ขอนแก่น ขับเคลื่อนงานลดปัจจัยเสี่ยงในเด็กและเยาวชนอย่างเข้มข้น มีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ คือ 1. เพื่อพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ให้กับเยาวชนกลุ่มเสี่ยง 2. เพื่อพัฒนาเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และจ.สุรินทร์ 3. เพื่อพัฒนารูปแบบการสื่อสารผลการดำเนินงานของแกนนำเยาวชนให้รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง และ 4. เพื่อประเมินประสิทธิผลการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาเครือข่าย เพราะจากผลสำรวจทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงในชีวิตและครอบครัวที่เสี่ยงทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจของเด็กและเยาวชนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตหากไม่ได้รับการป้องกัน
นายวรากร เสนามาตย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนคูเมืองวิทยาคม จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนมีความเสี่ยงที่เด็กจะเดินทางเข้าสู่เส้นทางที่ผิดในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ การพนัน และมีรักในวัยเรียน แต่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แต่หลังจากมีตัวแทนนักเรียนเข้าร่วมโครงการกับ สสส. นักเรียนที่เป็นแกนนำได้นำข้อมูล ความรู้มาขยายผลกับเพื่อนๆ ภายในโรงเรียน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด เช่น เด็กนักเรียนที่เคยแอบสูบบุหรี่บริเวณห้องน้ำ ปัจจุบันลดลงแต่จะมีบางคนที่ยังมีลักษณะแอบทำ เพราะยังพบก้นบุหรี่อยู่บ้าง แต่ไม่กล้าทำแบบเปิดเผยเหมือนเดิม เชื่อว่านักเรียนเริ่มตระหนักว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะสังคมในโรงเรียนได้รณรงค์และต่อต้านการสูบบุหรี่และอบายมุขทุกชนิด ส่วนความเสี่ยงเรื่องรักในวัยเรียน ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแล ป้องกันตัวเอง และให้ความรู้รณรงค์อย่างเต็มที่ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน
“ครั้งนี้โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการกับ สสส. และมีการหยิบแอปพลิเคชัน TikTok เข้ามาให้เด็กๆ ได้ทดลองทำสื่อ ครูมองว่ามีประโยชน์อย่างมาก เพราะนักเรียนสนใจ และเชื่อว่าจะช่วยขยายผลได้เร็วกว่าเพราะเป็นสื่อที่นักเรียนให้ความสนใจอยู่แล้ว ซึ่งครูเองก็จะพยายามจะแนะนำนักเรียนเสริมไปด้วยในเรื่องการใช้ TikTok อย่างเหมาะสม เพราะว่ามีเนื้อหาหลากหลายรูปแบบทั้งดีและไม่ดี จะให้นักเรียนพิจารณาด้วยว่าเป็นเนื้อหาที่สมควรเผยแพร่ หรือเอาเยี่ยงอย่างหรือไม่ คาดหวังว่าจะได้เห็นผลงานของเด็กๆ ออกมาในรูปแบบที่แปลกใหม่” นายวรากร กล่าว
นางเต็มดวง หวังปรุงกลาง ครูโรงเรียนบ้านหนองม่วงหวาน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อก่อนมักจะพบปัญหาเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเริ่มลุกลามไปถึงนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาพบว่าส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างต้องอยู่กับตายาย จึงทำให้เด็กบางคนมองเรื่องนี้เป็นปมด้อย ส่งผลให้ไม่อยากมาโรงเรียน แล้วหันไปรวมกลุ่มกับวัยรุ่นในชุมชนจนเกิดพฤติกรรมเสี่ยง แต่หลังจากส่งตัวแทนนักเรียนเข้าร่วมโครงการ Young สุข Young ไม่เสี่ยง กับ สสส. ทำให้ปีนี้สถานการณ์ดีขึ้น มีนักเรียนนำประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาเผยแพร่กับเพื่อนๆ ให้เห็นผลเสียและบอกว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้
“ปัญหาที่พบรอบใหม่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 คือ ในภาคเรียนที่ 1 นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ แต่พอเข้าสู่ภาคเรียนที่ 2 กลับพบปัญหาเด็กไม่มาเรียนหนังสือ เมื่อโรงเรียนตรวจสอบพบว่าเด็กบางคนมีพฤติกรรมเรื่องการเล่นเกมออนไลน์เข้ามาโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนชาย การที่โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมปีที่ 2 คาดหวังว่า นักเรียนที่เข้าร่วมจะนำประสบการณ์ เรื่องราวที่ได้จากการอบรม มาถ่ายทอดที่โรงเรียนให้เห็นข้อดีข้อเสียและการแก้ไขพฤติกรรมให้กับเพื่อนๆ ได้ โดยหวังว่าจะเห็นเด็กๆ หันมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อครอบครัว สังคม และเป็นอนาคตของชาติได้” นางเต็มดวง กล่าว
นางสาวภัทรภรณ์ เต็มใจ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนรมย์บุรีพิทยาคม รัชมังคลาพิเศษ จ.บุรีรัมย์ เล่าว่า รู้สึกประทับใจที่ค่ายนี้มีความสนุกสนานเป็นกันเอง โดยเฉพาะฐานการเรียนรู้มีประโยชน์และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยฐานที่สนใจเป็นพิเศษ คือ ฐานที่ให้ดูภาพ ทำให้ได้จินตาการถึงความหายที่ภาพต้องการสื่อ ซึ่งแต่ละคนจะมองแตกต่างกันออกไป ซึ่งช่วยทำให้เราได้สะท้อนความคิด มุมมองของแต่ละคน ช่วยสะท้อนสังคม สำหรับภาพรวมของกิจกรรมทั้งหมดที่ได้รับ คาดว่าจะนำตัวอย่างกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องปัจจัยเสี่ยงไปจัดให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้ทำกัน
นายนันทพงศ์ รูปจะโป๊ะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านหนองม่วงหวาน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ประทับใจที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเพื่อนใหม่ การบรรยาจากวิทยากรก็ทำให้ได้รู้ถึงผลกระทบโทษของบุหรี่ รวมไปถึงการรับฟังประสบการณ์ชีวิตจากวิทยากร ซึ่งจะนำไปต่อยอดและแบ่งปันกับเพื่อนในโรงเรียนได้
สำหรับกิจกรรม “Young สุข Young ไม่เสี่ยง” ครั้งนี้ได้มีกิจกรรมฐานเกี่ยวกับการรู้เท่าทันความเสี่ยง โดย ครูวิชะมัด งามจิตร พร้อมคณะจากโรงเรียนบุญวัฒนา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น การแนะนำการนำความรู้เรื่องปัจจัยเสี่ยง สู่การทำคลิป TikTok โดย อาจารย์พุฒิพงษ์ รับจันทร์ และคณะจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และยังได้รับฟังประสบการณ์เรียนรู้ชีวิต กับศิลปิน “ลำเพลิน วงศกร” ที่มาเล่าเส้นทางชีวิตก่อนเข้าสู่การเป็นศิลปินเพื่อเป็นแรกบันดาลใจให้กับเยาวชนที่มาเข้าร่วม