วงเสวนา ระบุช่วงเปลี่ยนผ่านกม.กัญชา ต้องเข้มงวดกม.
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 น. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “เตือนกัน…ก่อนวันที่จะสาย..ผ่าร่างพ.ร.บ.กัญชา” และการประชุมวิชาการศศก.เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัย และนักวิชาการการเสพติดครั้งที่ 10 ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting
ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ในอดีตการควบคุมปัญหายาเสพติดด้วยการทำให้ยาเสพติดเป็นความผิดรุนแรง และเป็นอาชญากรรม จึงทำให้เกิดนักโทษจำนวนมาก โดยกว่า 80-90% ของผู้ต้องขังเป็นนักโทษคดียาเสพติด ทำให้คนสูญเสียความสามารถในการผลิตให้กับประเทศ และสร้างภาระทางกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ว่าทั้งหมดเป็นคนใช้ยาเสพติดมีปัญหาทางจิต และนำสู่การก่ออาชญากรรม ทั้งนี้ในยุโรปเริ่มนำแนวคิดแยกอาชญากรรมกับการใช้ยาเสพติดมาใช้ โดยถือว่าคนใช้ยาเสพติดเป็นผู้ป่วย แต่หากใช้ยาเสพติดร่วมกับการก่ออาชญากรรมถึงจะลงโทษอาญา ในส่วนของไทยก็ปรับนโยบายเช่นกัน แต่ในระยะเปลี่ยนผ่านอาจจะช่วยลดปัญหาคนล้นคุก ลดปัญหาการตัดโอกาสคนที่ใช้ยาเสพติดบางประเภทที่ไม่รุนแรงให้เป็นสิ่งถูกกฎหมายเพื่อให้เขาไม่ต้องกลายเป็นอาชญากร แต่ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านนี้อาจจะทำให้เกิดปัญหาใหม่ตามมาได้ เช่นที่ผ่านมาในหลายประเทศ การเปลี่ยนผ่านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสิ่งเสพติดมาเป็นสิ่งเสพติดถูกกฎหมายก็มีผลกระทบมากมายเช่นกัน
ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังมีกฎหมายออกมาควบคุมการดื่ม เพื่อเป็นการคุ้มครองสังคม แต่เมื่อไปดูที่กฎหมายกัญชา กัญชง พืชกระท่อม ที่มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ โดยมีปัจจัยสำคัญคือแนวความคิดในการร่างกฎหมายแบบปลดล็อคแล้วปล่อยให้กัญชา กัญชง กระท่อม เป็นยาเสพติดที่เสพได้ทุกรูปแบบแต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ อาจจะยังมองภาพความเสียหายไม่ชัด ยังไม่เห็นผลกระทบต่อสังคมที่เกิดขึ้นจริง ต้องศึกษาจากต่างประเทศ แต่ข้อเสนอแนะคือต้องระมัดระวังเพราะอย่าลืมว่ากัญชาเมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตประสาท เป็นสารที่เปลี่ยนความสามารถในการตัดสินใจ คนเมากัญชาไม่ได้คิด หรือทำอะไรในสภาพที่มีสติ 100% จึงมีโอกาสที่จะทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นจะให้ใช้เหมือนบุหรี่ไม่ได้ ต้องจัดให้มีการควบคุมที่สูงกว่าเหล้า บุหรี่
รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า สถานการณ์วัยรุ่นไทยใช้สารเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพบว่าเยาวชนผู้กระทำผิดใช้สารเสพติดระหว่างเหตุสูงถึง 85% โดย 5 อันดับแรกคือยาสูบ คิดเป็น 82.4% ยาบ้า 61.0% สุรา 44.9% ใบกระท่อม 35.7% กัญชา 34.4% ตามลำดับ ซึ่งสังเกตได้ว่าเป็นสารเสพติดที่เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สารเสพติดเพียงตัวเดียว แต่มีการใช้หลายตัวร่วมกัน และมีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน ทั้งชนิดกระตุ้นประสาท กดประสาท และหลอนประสาท สารเสพติดมีผลต่อการทำงานของสมองและ ร่างกาย และจิตใจ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ทำให้กระบวนการคิด เรียนรู้ การแยกแยะ และการตัดสินใจผิดพลาดไป สารเสพติดบางชนิดเช่น กัญชา หากเด็กหรือเยาวชนเสพติดเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดอาการหูแว่ว ภาพหลอน คล้ายคลึงกับอาการความเจ็บป่วยทางจิตได้ การเลิกสารเสพติดทำได้ยาก มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถเลิกได้สำเร็จ ส่วนใหญ่เกิดผลเสียหายต่อสุขภาพกายและใจแล้วจึงเลิกได้ และมีจำนวนมากที่เลิกได้ชั่วคราวแล้วหวนกลับมาใช้อีก
ปัจจุบันเยาวชนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสารเสพติดชนิดต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ตามตรอกซอกซอย หมู่บ้าน ร้านสะดวกซื้อ หรือสั่งซื้อออนไลน์ ส่งผลกระทบให้เด็กและเยาวชนบอบช้ำ เสียอนาคต สูญเสียกำลังสำคัญของประเทศชาติ การพิจารณาผ่านร่างพ.ร.บ.สารเสพติดต่างๆ เช่น กัญชา กระท่อม บุหรี่ไฟฟ้า มีโอกาสทำให้เยาวชนเข้าถึงสารเสพติดได้มากขึ้น บริโภคมากขึ้น เพิ่มปัญหา สุขภาพกาย ใจ เศรษฐกิจและสังคมตามมา สร้างภาระให้แก่ประเทศชาติ ที่ผ่านมาแม้พลาดพลั้ง ยังไม่สาย หากเริ่มต้นกันใหม่ด้วย การรังสรรค์สิ่งแวดล้อมดีๆ พื้นที่ปลอดภัยให้ลูกหลาน เด็กและเยาวชนเติบโตมีสุขภาพที่ดี มีคุณภาพ ต่อไป
พญ.ภัทราภรณ์ กินร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จิตแพทย์การเสพติด สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นกลุ่มที่ร่างกายและสมองกำลังพัฒนา โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนควบคุมการคิดอย่างมีเหตุผลนั้นยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ในขณะที่สมองที่ทำงานด้านอารมณ์มีการพัฒนาค่อนข้างมากประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายด้านจึงเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากลอง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่คิดและตัดสินใจโดยใช้อารมณ์มาก่อน แม้จะรู้และเข้าใจเหตุผลว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดีก็ตาม จึงเป็นวัยที่ยังต้องการการดูแล คุ้มครอง ชี้แนะจากผู้ใหญ่ และสิ่งแวดล้อมในการเติบโตที่ดี ในช่วงของการพัฒนาสู่ความเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่นเป็นวัยที่ก้าวสู่การทำพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่าย ทั้งเรื่องเซ็กส์ ยาเสพติด ความรุนแรง มีการเริ่มลองใช้ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังพบว่ากัญชาก็เป็นประตูสำคัญที่ทำให้เยาวชนก้าวสู่การเสพสารเสพติดอื่นตามมาได้ ทั้งนี้สารเสพติดจะมีผลต่อการทำงานของสมอง พัฒนาการทางด้านจิตใจ และส่งผลให้ลดความสามารถในการเรียนรู้ (IQ) ทั้งนี้ถ้ากล่าวถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาในเด็กและวัยรุ่นมีงานวิจัยที่ศึกษาในกลุ่มเด็กแรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่อายุ 30 ปี พบว่าการใช้กัญชาตั้งแต่เด็กเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิต อาทิ หูแว่ว ประสาทหลอน นอกจากนั้นแล้วยังมีงานวิจัยที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของการใช้กัญชาในเด็กและวัยรุ่นและความเสี่ยงอาการซึมเศร้า วิตกกังวล รวมถึงมีงานวิจัยที่พบว่าการใช้กัญชาในช่วงเด็กและวัยรุ่น ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้หรือ IQ ที่ลดลง และยังต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ เป็นต้น
ดังนั้นเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาร่วมกันหาทางป้องกันกลุ่มเปราะบางได้อย่างแท้จริง ซึ่งถ้าพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา พ.ศ…ก็มีการพูดถึงเรื่องการห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีตั้งครรภ์ ก็ถือเป็นการป้องกันได้ระดับหนึ่ง แต่การช่วยกันดูอย่างรัดกุม รอบคอบมากขึ้นถือเป็นสิ่งสำคัญ เช่นกรณีเด็กและเยาวชน อยู่ในบ้าน หรือชุมชนที่มีการอนุญาตให้มีการปลูกกัญชา เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าใกล้ความเสี่ยงในการเข้าถึงกัญชา ของเด็กและเยาวชนหรือไม่ เป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดหาแนวทางป้องกันกลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ รวมถึงการเฝ้าระวังเรื่องการโฆษณาข้อมูลเกี่ยวกับกัญชา รวมถึงผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งถือเป็นช่องทางสำคัญในการส่งผลต่อการรับรู้ของเด็กและเยาวชนยุคปัจจุบัน ส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจในการทดลองใช้กัญชาได้ มองว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่อาจต้องช่วยกันดูแลเด็กและเยาวชนของเรา แต่ ณ ตอนนี้
สิ่งสำคัญที่ทำได้สำหรับครอบครัวที่จะช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนจากการใช้สารเสพติด ส่วนหนึ่งคือสัมพันธภาพในครอบครัวที่ดี ควบคู่ไปกับฝึกการเรียนรู้วินัย และหน้าที่รับผิดชอบอย่างเหมาะสมตามวัย ส่งเสริมให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเองสอนให้เด็กมีทักษะชีวิตที่ดี รู้จักคิด วิเคราะห์ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเด็ก เป็นหนึ่งในจุดที่ครอบครัวช่วยกันได้ ส่วนประเด็นที่กล่าวไปที่ฝากไปเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการใช้กัญชาในเด็ก เช่น อาการทางจิต การลดลงของระดับสติปัญญา จะเป็นการดีถ้ามีการช่วยกันมองอย่างรอบด้านในการช่วยกันพิจารณาดูแลภาพรวมของสังคมเพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติจริงในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางให้ปลอดภัยจากผลกระทบของการใช้สารเสพติด