สสส.-จุฬาฯ MOU ร่วมมือทางวิชาการ “พัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร”
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ชั้น 34 อาคาร SM Tower สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อความตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ระยะเวลา 3 ปี ระหว่าง นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, รศ. ดร. นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) และ ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดี ด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม และ ผศ. ดร.สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางเบญจมาภรณ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการและเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาพ แก่ นิสิต/นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป ด้วยการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนทางด้านวิชาการ อาทิ การสร้างและพัฒนาเนื้อหาการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป หลักสูตรเสริมการศึกษาทั่วไประยะสั้น สนับสนุนหรือร่วมดำเนินงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน และเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงาน
รศ. ดร. นพ.นันทวัช กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็นพันธมิตรที่มีความเข้มแข็ง เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของไทยและได้สร้างประโยชน์แก่ประเทศมาเป็นเวลายาวนาน สถาบันฯ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ร่วมทำงานขับสร้างการพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร นิสิตนักศึกษา และบุคลากรประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดการขยายพื้นที่การเรียนรู้และส่งเสริมให้เกิดโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมวางแผนเปิดหลักสูตรการสร้างเสริมสุขภาพในมิติต่างๆ เช่น หลักสูตร เมืองน่าอยู่ หลักสูตร การสื่อสารเพื่อสังคม หลักสูตร การสื่อสารเพื่อสร้างองค์กรแห่งความสุข
ผศ. ดร.สุวิธิดา กล่าวว่า สำหรับกรอบความร่วมมือระหว่าง Thaihealth Academy และศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ในการพัฒนาหลักสูตร E –learning เรียกว่า “Life long Learning” ที่มี micro credit และ learning outcome ซึ่งเป็นโครงการในอนาคตจะนำเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์ม ที่เรียกว่า CU Neuron เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทั้งวิชาออนไลน์ของศูนย์การศึกษาทั่วไป คอร์สออนไลน์จาก Chula MOOC และคอร์สระยะสั้นของ CUVIP คอร์สพิเศษจาก PacRim และ SkillLane ให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความสะดวก พร้อมรับประกาศนียบัตร CU Neuron ยังรองรับการเก็บหน่วยกิต ผ่านธนาคารหน่วยกิต (credit bank) สำหรับหลายวิชาที่สามารถเทียบโอนใช้ได้เมื่อเลือกเรียนหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ผ่านทางเว็บไซต์ https://cuneuron.chula.ac.th
ผศ. ดร.สุวิธิดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้จัดทำหลักสูตร CU Learning โดยเริ่มนำร่องจากกิจกรรมหลักสูตรเสริมการศึกษาทั่วไประยะสั้น (CUVIP) ใช้ชื่อว่า “CUVIP series” ซึ่งมาใน Theme “เท่าทันสื่อ ก้าวทันโลก” โดยมุ่งเน้นการมีเสรีภาพทางความคิด อ่าน ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับตัวเรา สร้างความสามารถในการคิด เลือก ตัดสินใจ อย่างใช้วิจารณญาณในฐานะพลเมืองที่อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเคารพความหลากหลายทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ก่อให้เกิดทักษะทางด้าน “Media Literacy, the essential skill for well-being” แบ่งเป็น 12 กิจกรรม ในระยะเวลา 2 เดือน คือ เดือนมิถุนายน 2565 จัดกิจกรรม ได้แก่ 1.เปิดสายตาอ่านสื่ออย่างรู้เท่าทัน MIDL 101 2.สูงวัยรู้ทันสื่อ 3.การใช้สื่อดิจิทัล กับการจัดการอารมณ์ 4.เรียนรู้รับมือคุกคามทางเพศออนไลน์ 5.พื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking 101) และเดือนกรกฎาคม 2565 ได้แก่ 1.ทำอย่างไรเมื่อซื้อของออนไลน์ไม่ตรงปก 2.พลเมืองดิจิทัลกับการรับมือข้อมูลข่าวสาร 3.การนำเสนออัตลักษณ์ผ่านสื่อดิจิทัล 4.การเคารพสิทธิบนโลกออนไลน์ 5.พลิกมุมคิด สะกิดมุมมอง วิพากษ์สื่อด้วยสายตาพลเมือง (MIDL for Citizenship) 6.เอาตัวรอดเมื่อถูกกลั่นแกล้ง ระรานทางไซเบอร์ (Cyber Bullying) 7.วิพากษ์สื่ออย่างรู้เท่าทัน สร้างสรรค์สังคมของทุกคน MIDL for Inclusive Society
ทั้งนี้สามารถติดตามโครงการรวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป โดยติดตามได้ทางเว็บไซต์ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://gened.chula.ac.th และเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ Thaihealth Academy และศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ