คณะสงฆ์ล้านนาจับมือประชาคมงดเหล้า 8 จังหวัด รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา
เชิญชวนงดเหล้าเข้าพรรษา! คณะสงฆ์ล้านนาจับมือประชาคมงดเหล้า 8 จังหวัด พลิกกลยุทธ์ “บ้านวัดโรงเรียนราชการ” (บวร.) เน้นผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง เริ่ม 14 กรกฎาคม 2565 นี้
ประชาคมงดเหล้าจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้จัดประชุมออนไลน์ร่วมกับคณะสงฆ์ นำโดยพระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พระสุนทรมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน และผู้แทนคณะสงฆ์ทุกจังหวัด
พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เข้าพรรษาเป็นวิถีชีวิตของชาวพุทธ เป็นวินัยของพระสงฆ์จะต้องจำพรรษาศึกษาปฏิบัติธรรม และชาวพุทธจะได้ตั้งใจลดละเลิกอบายมุข เข้าวัดฟังธรรมชัดเกลาจิตใจ ซึ่งในยุคสมัยที่มีการใช้เทคโนโลยีมาก มีสิ่งอำนวยความสะดวกมาก แต่ปัญหาทางจิตใจของประชาชนก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้กายกับใจไม่สมดุลกัน “กายสบายแต่ใจมีปัญหา” ที่ผ่านมาคณะสงฆ์ดำเนินนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5 ซึ่งจะได้มาร่วมมือกับโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของเครือข่ายงดเหล้า และ สสส. โดยจังหวัดเชียงรายจะทำความตกลงทุกภาคส่วนจากระดับจังหวัดจนถึงระดับชุมชน สร้างกระแสประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง โดยเฉพาะทุกวัดในจังหวัดเชียงราย
ด้าน พระสุนทรมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน ประธานเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดน่าน กล่าวว่า ทราบข้อมูลว่าปีนี้จังหวัดน่านมีสถิติผู้ดื่มเหล้ามากที่สุดของประเทศ ทางจังหวัดเห็นเป็นโอกาสที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ โดยจะเน้นสร้างความร่วมมือกับผู้นำในท้องถิ่นท้องที่ กำนันผู้ใญ่บ้านและนายกเทศบาล อบต. ซึ่งจะเป็นแบบอย่างของผู้นำ ถ้าได้ผู้นำที่ร่วมมือกับโครงการ เห็นประโยชน์จากโครงการ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพ การประหยัดค่าใช้จ่าย ความสุขของครอบครัว จะทำให้มีประชาชน เยาวชนเข้าร่วมมากขึ้น จึงขอฝากแนวทางปฏิบัติให้ทุกจังหวัดให้ประสานความร่วมมือกับผู้นำ “ชนะใจผู้นำ ชนะใจประชาชน”
พระมหาอนุวัต ฐิตเมโธ เจ้าอาวาสวัดหนองปลาขอ เลขาเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ประธานผู้ประสานงานเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก จ.ลำพูน กล่าวว่า คณะสงฆ์จังหวัดลำพูน ได้เตรียมประสานความร่วมมือทุกวันแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มพระสายงานพระคิลานุปฎฐาก ได้มีการประชุมร่วมกับแกนนำชุมชน ซึ่งหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับจังหวัดพะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่
พระสมุห์จำเริญ จนฺทูปโม เลขานุการเจ้าคณะอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า ในกิจกรรมสร้างแรงจูงใจและกำลังใจให้กับคนที่ลดละเลิก โดยเฉพาะจัดเวทีสัญจรไปยังชุมชนต่างๆระหว่างพรรษา การยกย่องชื่นชมคนที่กำลังงดเหล้า เช่น การให้ภรรยา หรือลูกคนครอบครัวพูดถึงสิ่งที่ได้จากการที่สามีหรือพ่อเลิกเหล้า ตนเองมีความสุขอย่างไร แต่ก่อนมีความทุกข์อย่างไร เป็นการเสริมแรงให้ครอบครัวเพราะครอบครัวคนไทยไม่ค่อยพูดให้กำลังใจกัน กิจกรรมเสริมแรงให้กำลังใจในระหว่างพรรษาทุกชุมชนสามารถนำไปปรับใช้ได้ เป็นประโยชน์มากทีเดียว
ด้านนายเอนก สิทธิ ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดน่าน กล่าวว่า ปีนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ประสานความร่วมมือที่จะให้กลไกระดับอำเภอ และ อสม. มาร่วมมือรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่บ้านวัดโรงเรียนราชการ (บวรร) มาจับมือกัน แม้ว่า ผลสำรวจของสำนักงานสถิติจะแสดงว่าจังหวัดน่านมีนักดื่มมากที่สุด แต่จะเป็นโอกาสที่คนน่านจะร่วมมือกันเริ่มต้นงานเข้าพรรษานี้
ขณะที่ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการเครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัด พบว่าจังหวัดที่มีอัตราผู้ดื่ม(ความชุก)สูงสุด 10 อันดับ โดย 6 จังหวัดอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน ได้แก่ อันดับที่ 1 จังหวัดน่าน (ร้อยละ 43.3), อันดับที่ 2 จังหวัดแพร่ (ร้อยละ42.9), อันดับที่ 3 จังหวัดเชียงราย(ร้อยละ 41.4), อันดับที่ 5 จังหวัดพะเยา(ร้อยละ 40.7), อันดับที่ 9 จังหวัดลำพูน(ร้อยละ37.1) และอันดับ 10 จังหวัดลำปาง (ร้อยละ 38.0) เป็นครั้งแรกที่จังหวัดลำปางติดอันดับ 1 ใน 10 อันดับของประเทศอีกด้วย โดยทางศูนย์ประสานงานภาคฯ จึงต้องเน้นกลยุทธ์สร้างความร่วมมือ เพราะปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อทุกคน ทั้งมิติสุขภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติครอบครัว มิติอุบัติเหตุความรุนแรงอาชญากรรม และการเติบโตในสถภาพแวดล้อมที่ดีของเด็กเยาวชน โดยแผนระยะสั้น 3 ปีของภาคเหนือตอนบน นี้ คือ การเน้นประสานความร่วมมือ โดยเฉพาะกับคณะสงฆ์ เพราะคนเหนือในชุมชนยังมีความเชื่อถือศรัทธาในพระสงฆ์ รวมทั้งการเชื่อมกับหน่วงานภาครัฐ ซึ่งการประชุมร่วมกันครั้งนี้เป็นครั้งที่ที่คณะสงฆ์ทั้ง 8 จังหวัดได้เห็นปัญหาและความร่วมมือต่อไป นอกจากนั้น ยังเตรียมการที่จะประสานประเด็นการปรับสภาพแวดล้อมปลอดเหล้าในงานศพ งานบุญประเพณีต่างๆ รวมทั้ง การส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ในเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ การเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมายของภาคธุรกิจ ซึ่งบริบทของภาคเหนือตอนบนมีความซับซ้อนเหล้าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต จำนวนโรงกลั่นสุราชุมชน ทำให้ราคาถูกเข้าถึงงาน รวมทั้งความคิดความเชื่อเกี่ยวกับประเพณี การเข้าสังคม และการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ซึ่งจะต้องร่วมคิดร่วมทำเป็นเป้าหมายในระยะ 3ปีนี้
ทั้งนี้ บุคคลทั่วไปที่ต้องการร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา สามารถร่วมสมัครใจตั้งใจงดเหล้าในทุกวัดของเขตภาคเหนือ 8 จังหวัด และส่วนราชการที่ร่วมโครงการ หรือหน่วยงานใดต้องการเข้าร่วมเป็นองค์กรรณรงค์ สามารถโทรประสานงาน ที่นายสมควร ทะนะ ผู้ประสานงาน โทร 094 601 6566