สาธารณสุข

สหรัฐฯเผยสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งในมนุษย์

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยข้อมูลการสํารวจภาวะสุขภาพและโภชนาการระดับชาติ โดยวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง หรือ World Journal of Oncology จากสหรัฐอเมริกา วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการป่วยด้วยโรคมะเร็ง โดยมีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้อง เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ เศรษฐานะ และโรคประจำตัวต่าง ๆ พบร่างกายของประชากรสหรัฐอเมริกาอายุ 18 ปีขึ้นไป ปี 2558-2561 จำนวน 154,856 คน นำมา มีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าผู้ไม่เคยสูบบุหรี่ 2.2 เท่า เมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดาพบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดมากกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา เช่น มะเร็งปากมดลูก พบในผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าผู้สูบบุหรี่ธรรมดา 8 เท่า มะเร็งเม็ดเลือดขาว 7 เท่า มะเร็งไทรอยด์ 4 เท่า มะเร็งผิวหนัง 3 เท่า

“อายุเฉลี่ยของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งอยู่ที่ 45 ปี เมื่อเทียบกับอายุเฉลี่ยการเป็นมะเร็งของผู้สูบบุหรี่ธรรมดาอยู่ที่ 63 ปี งานวิจัยชิ้นนี้ ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ใช้ความรู้ทางระบาดวิทยาศึกษาความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการเกิดโรคมะเร็งในคน ที่น่าตกใจคือ บุหรี่ไฟฟ้าใช้กันมาเพียงกว่า 10 ปี แต่มีรายงานว่าเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง เทียบกับการสูบบุหรี่ธรรมดาที่ใช้เวลาหลัก 100 ปี ก่อนที่จะมีรายงานว่าทำให้เป็นมะเร็งปอด เนื่องจากไอบุหรี่ไฟฟ้ามีสารก่อมะเร็ง แม้น้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาแต่ก็มีสารเคมีหลายชนิดที่ไม่พบในควันบุหรี่ธรรมดา ซึ่งยังไม่รู้ผลกระทบต่อร่างกาย ที่ฝ่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาจึงไม่เป็นความจริง ที่ถูกคือ บุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่ธรรมดามีอันตรายที่แตกต่างกันเพราะสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบต่างกัน อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงความสัมพันธ์ของบุหรี่ไฟฟ้ากับมะเร็งชนิด ซึ่งอาจจะต้องมองไปถึงโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ธรรมดา” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า งานวิจัยแสดงให้เห็นถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเมื่ออายุยังน้อย ที่สำคัญธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนอายุน้อย ทำให้ปัญหาการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น อังกฤษที่มีกฎหมายควบคุมเคร่งครัด พบเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มกว่า 2 เท่า ทั้งที่มีกฎหมายห้ามขายให้คนอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำให้แพทย์ในอังกฤษออกมาเตือนว่า ปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กอังกฤษกลายเป็นภัยพิบัติทางสาธารณสุข เด็กที่สนใจการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้าใจที่ผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ไม่เสพติด รวมถึงรูปลักษณ์ที่ทันสมัยน่าสนใจ มีกลิ่นหอม และโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อออนไลน์ ทำให้เด็กอยากรู้ อยากลอง ส่งผลต่อการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าและเพิ่มความเข้มข้นของสารนิโคตินที่เป็นสารเสพติดอันตราย

“ความจำเป็นเร่งด่วนคือ การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับสังคม โดยเฉพาะในวัยเด็ก สร้างความร่วมมือกันสนับสนุนให้ประเทศไทยมีมาตรการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า และเร่งปราบปรามอย่างจริงจัง รวมถึงแนวทางการจัดการกับสื่อออนไลน์ที่บริษัทบุหรี่เคยหลอกลวงคนทั้งโลกเรื่องบุหรี่ธรรมดามาแล้วในอดีต ตอนนี้กำลังหลอกลวงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ จึงต้องเร่งปกป้องเด็กไทยก่อนที่บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เกิดภัยพิบัติทางสาธารณสุขในประเทศไทยของเรา” ศ.นพ.ประกิต กล่าว