ในประเทศ

สสส.จับมือวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น ชวนแกนนำเยาวชนสร้างคอนเท้นต์ทำสื่อ TIKTOK และ YOUTUBE

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 ที่รีสอร์ทเจ็ดพี่น้อง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่นและมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดโครงการอบรมผู้นำภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง(เหล้า-บุหรี่) ในสถานศึกษา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9–10 กันยายน 2565 มีนายลำปาง พันธ์เพชร ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น เป็นประธานเปิดโครงการฯ จากนั้น นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. บรรยายเกี่ยวกับโครงการ และสถานการณ์การสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน โดยมีนักเรียน นักศึกษาชั้น ปวส.จากวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น เข้าร่วมโครงการ  นอกจากนี้ทางวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น ยังได้จัดทำโครงการประกวดหนังสั้น คลิปวีดีโอ (TIKTOK) เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า – บุหรี่) ในสถานศึกษามาเสริมกิจกรรมดังกล่าวควบคู่ไปด้วย

นางสาวรุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะมีคนไทยที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหล้าบุหรี่ลดลง แต่ยังพบผู้ป่วยจากควันบุหรี่ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นผู้สูบเองประมาณปีละ8,000 คน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขต้องสูญเสีย งบประมาณมาเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยจากบุหรี่ในอัตราที่สูงประมาณปีละ140,000ล้านบาท  ขณะที่ข้อมูลสถิติจำนวนผู้สูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนพบ เยาวชนภาคอีสานสูบบุหรี่มากเป็นอับดับสอง รองจากภาคใต้ และปัจจุบันนี้ยิ่งมีสิ่งจูงใจให้สูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น แม้จะมีการจำกัดพื้นที่สูบบุหรี่แล้วก็ตาม โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่อันตรายไม่แพ้กัน ดังนั้น จึงเป็นที่มาของโครงการอบรมผู้นำภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง(เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษาที่มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเยาวชนแกนนำ  โดยใช้กิจกรรมการผลิตสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้โดนใจเยาวชน ผ่านการสร้างคอนเท้นต์ในรูปแบบ TIKTOK และ YOUTUBE จากนั้นมีการแข่งขันกันว่า TIKTOK หรือ YOUTUBE กลุ่มไหนจะมีผู้เข้าถึงมากที่สุด ซึ่งถือเป็นสื่อที่ตรงเป้าหมายที่สุด

“การจะทำให้เด็กเยาวชนป้องกันปัจจัยเสี่ยงได้ คือการที่ให้เขาเป็นคนที่ตัดสินใจเอง และการที่จะเพิ่มประสบการณ์ ต้องเกิดจากสิ่งที่เขาสนใจ วันนี้การที่ สสส. มาสนับสนุนวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น เพราะเชื่อว่าเยาวชนจะเป็นผู้ที่บอกเพื่อนและสื่อสารได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากกว่า เพราะเยาวชนไม่ต้องการการห้ามแต่จะทำอย่างไรให้เขามีวิธีคิด วิธีตัดสินใจและชวนเพื่อนๆ บนเหตุผลที่เหมาะสม เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นเกราะป้องกันให้เรื่องเหล้าบุหรี่ห่างไกลจากชีวิตเขาได้” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

ด้าน นายลำปาง  พันธ์เพชร ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางวิทยาลัยฯ ได้ให้ความสำคัญในการรณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่ ในสถานศึกษาอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด โดยใช้หลัก “CHECK LOCK CLEAR” CHECK คือ การตรวจสอบภายนอกได้แก่สังคมที่นักเรียนอยู่ว่า มีความเสี่ยงแค่ไหน BLOCK คือ การเข้าใจและหยุดยั้งในสิ่งที่ผิดพลาด และสุดท้าย CLEAR คือ นำนักเรียนมาพัฒนาให้เป็นแกนนำชวนเพื่อให้ห่างไกลเหล้าบุหรี่ ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง ซึ่งการอบรมผู้นำภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง(เหล้า-บุหรี่) ในสถานศึกษาเข้ามา ถือว่าเป็นความโชดดีของสถานศึกษาที่เป็นการเข้ามาเติมเต็มการป้องกันเหล้าบุหรี่ ในสถานศึกษาได้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งมากขึ้น เนื่องจาก สสส.มีข้อมูลและแนวทางที่มองเห็นมิติแห่งการเข้าถึงกลุ่มเยาวชนมากขึ้น

น.ส.กัญญารัตน์ ล้อมพงษ์ นักศึกษาชั้น ปวส.ปี 2 สาขาวิชาอิเลคทรอนิกส์ วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น หนึ่งในแกนนำที่เข้าร่วมโครงการยอมรับว่า บุหรี่ เหล้าเข้าถึงเยาวชนได้ง่ายจากค่านิยมและการเรียนแบบผู้ปกครองที่ตั้งวงสังสรรค์กันแล้วเลียนแบบด้วยการอยากรู้อยากลอง รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้าร่วมโครงการและมาเป็นแกนนำครั้งนี้ เพราะนอกจากจะได้ความรู้จากการผลิตสื่อแล้ว ยังได้มีส่วนร่วมในการป้องกันเหล้าบุหรี่ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและสังคม เศรษฐกิจของประเทศด้วย

ขณะที่ น.ส.ชูธินันร์ จิตตมาตร นักศึกษา ชั้น ปวส.ปี 1 สาขาการจัดการ อีกหนึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมองว่า เยาวชนส่วนใหญ่ที่หลงผิดไปยุ่งเกี่ยวกับเหล้าบุหรี่ เกิดจากความอยากรู้อยากลองและการชักชวนโดยเพื่อน ซึ่งการจะเลิกนั้นค่อนข้างยาก แต่สามารถทำได้ถ้าตั้งใจโดยเริ่มจากลดจำนวนลง น่าจะง่ายกว่า ส่วนในการเข้าร่วมเป็นแกนนำในครั้งนี้จะพยายามเรียนรู้และผลิตสื่อให้เข้าถึงกลุ่มเยาวชนมากที่สุด ซึ่งถือว่าปัจจุบันโลกออนไลน์กว้างมากมีหลากหลายช่องทางให้กลุ่มเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 ในอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่า นิยมดื่มเบียร์เป็นอับดับหนึ่ง 43% รองลงมาสุราขาวอันดับสอง 25.60% ขณะที่จังหวัดที่มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก 5 อันดับแรก ได้แก่ น่าน แพร่ เชียงราย สระแก้วและขอนแก่น ส่วนสถานการณ์การสูบบุหรี่พบว่า 60.8% ของนักสูบบุรี่หน้าใหม่ เป็นผู้มีอายุ15 – 19 ปี