สสว.แถลงความสำเร็จโครงการ SME Coach ประจำปี 2565
สสว. แถลงความสำเร็จโครงการ SME Coach ประจำปี 2565 กิจกรรมพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลที่ปรึกษาและระบบ Coach Online ทั้งออนไลน์และออนไซต์ ปั้นโค้ชอาสา เพิ่มอีก 1,800 ราย รวมมากว่า 5,000 ราย ส่งผล SME ที่ร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย สามารถสร้างยอดได้มากกว่า 150 ล้านบาท/ราย
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยถึงที่มาโครงการ SME Coach และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นโครงการที่พัฒนาต่อยอดมาจากโครงการ Train the Coach 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นให้โค้ชเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ “โลกของการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ผู้ประกอบการต้องก้าวให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการก้าวเดินไปอย่างถูกวิธีจำเป็นต้องมีโค้ชเข้ามาช่วยชี้แนะแนวทาง เพื่อมุ่งสู่ผลลัพธ์ที่ตรงตามเป้าหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดย สสว. ไม่ได้จำกัดเพียงพัฒนาผู้ประกอบการ เรายังเห็นความสำคัญของโค้ชที่จะต้องมีทักษะ ความรู้ความชำนาญเพื่อแนะนำผู้ประกอบการได้ จึงได้ดำเนินการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกด้าน”
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า การพัฒนาโค้ชที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของ สสว. ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 5,000 ราย โดยได้มีการเสริมสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับโค้ชด้วยหลักสูตรการอบรมออนไลน์ที่สร้างขึ้นในปีนี้อีก 6 หลักสูตรที่สอดรับกับสภาพความเปลี่ยนแปลง เช่น ดิจิทัล การพลิกฟื้นของธุรกิจ หรือกฎหมายใหม่ส่งผลต่อทุกคนอย่างไร รวมกับหลักสูตรที่มีอยู่เดิมเป็นจำนวนรวมกว่า 35 หลักสูตร ซึ่งพบว่าโค้ชเหล่านั้นมีความสามารถที่สูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด สามารถให้คำปรึกษาแนะนำที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น และก่อให้ผลทางปฏิบัติที่สูงมากขึ้นแก่ผู้ประกอบการ มีการพัฒนาตัวผู้ประกอบการซึ่งโค้ชได้เข้าไปทำการวิเคราะห์และประเมินว่า ควรจะปรับปรุง แก้ไขด้านใดให้ธุรกิจหลังสถานการณ์โควิดผ่านพ้นไปสามารถดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดต้น เพิ่มยอดขาย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาแนะนำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการให้บริการที่ดีขึ้น จึงได้ปรับระบบฐานข้อมูลของที่ปรึกษาโดยเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างโค้ชกับเอสเอ็มอีให้สะดวกมากขึ้น จากเดิมที่ต้องเข้าใช้บริการผ่านเว็บไซต์ ก็ได้ขยายการให้บริการไปสู่ระบบ Line OA ปรึกษา แนะนำ ถามตอบ บน Line OA ที่ปฏิบัติการบนสมาร์ตโฟนซึ่งทุกคนมีความคุ้นเคยโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพื่อให้การเข้าถึงบริการปรึกษาแนะนำระหว่างโค้ชและเอสเอ็มอีสะดวกรวดเร็วขึ้น
ผอ.สสว. กล่าวด้วยว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้การติดต่อสื่อสารขอคำปรึกษาแนะนำระหว่างโค้ชกับเอสเอ็มอีทำได้ยาก แต่ปัญหาของเอสเอ็มอีไม่สามารถหยุดได้ จึงจำเป็นต้องมีโค้ชเข้าไปช่วยแนะนำแก้ปัญหาให้กับเอสเอ็มอี สสว.จึงได้เริ่มนำวิธีการให้คำปรึกษาแนะนำทางออนไลน์ (Coaching online) มาใช้ โดยที่ผ่านมาพบว่า ปีแรก ทั้งผู้ประกอบการและโค้ช มีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่คุ้นเคย มีโค้ชบางคนที่ต้องเอาตัวเองเข้าไปพบกับผู้ประกอบการเพราะเกรงจะเกิดความเข้าใจผิดหรือกลัวไม่บรรลุผล
“ในปีนี้เป็นปีที่สอง ที่เราใช้ระบบ Coaching Online ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ทั้งผู้ประกอบการจำนวน 1,000 ราย และโค้ชผู้รับผิดชอบสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น และสามารถใช้ระบบออนไลน์ในการให้คำปรึกษาแนะนำทั้งในการโค้ช การตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูล และการส่งมอบงานที่ได้ผลสูงมาก โดยในปีที่แล้ว โครงการได้ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศได้ถึง 64 จังหวัด และในปีนี้ได้ขยายการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการไปทั่ว 77 จังหวัด กล่าวได้ว่าโครงการสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ครอบคลุมมากขึ้น”
ผอ.สสว. ยืนยันว่าระบบการให้คำปรึกษาแนะนำ ณ สถานประกอบการ หรือออนไซต์ยังต้องมีเหมือนเดิมเพราะปัญหาที่พบมีความซับซ้อนสูงมาก จึงยังคงจำเป็นที่จะต้องมีการให้คำปรึกษาหน้างานอยู่ เช่น การปรับปรุงเครื่องจักร หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานที่เกี่ยวกับหลายฝ่าย หรือมีความละเอียดสูง โค้ชยังจำเป็นที่จะต้องพินิจพิเคราะห์จากสถานที่จริง อย่างไรก็ตามการ Coaching Online ก่อนที่จะลงให้คำปรึกษาหน้างานช่วยให้การปฏิบัติงานของโค้ชแม่นยำขึ้น และประหยัดเวลาขึ้นมาก
“ปีนี้มีเรามีโค้ชอาสาสมัครที่มีความพร้อมจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเข้ามาจากเดิมอีกด้วย ซึ่งอาสาสมัครส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ อสสว. เกิดจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ที่อาสาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ต่างๆ โดยขณะนี้มีเพิ่มมากกว่า 1,800 คน อสสว. เหล่านี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อีกแรงหนึ่ง
“เอสเอ็มอีจำนวน 1,000 ราย ที่เข้ารับการให้คำปรึกษาแนะนำ เราพบว่าผลรวมของยอดขายทั้งหมดของแต่ละรายมีเกินกว่าปีละ 150 ล้านบาท หากยังคงดำเนินธุรกิจได้ต่อไป และจะมากยิ่งขึ้น หลังจากการปรับปรุงตามข้อแนะนำของโค้ช ซึ่งเงินจำนวนนี้ ก็จะถูกจับจ่ายออกไปทั้งในรูปของการซื้อวัตถุดิบจากผู้ประกอบการด้วยกัน การนำไปจ่ายค่าแรง การจ่ายค่าขนส่ง ค่าโสหุ้ยต่างๆ ฯลฯ และสุดท้ายก็คือการจ่ายกลับไปในรูปของภาษีให้กับประเทศ” นายวีระพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย