สสส.แนะเคล็ดลับ “กินเจ” ได้สารอาหารครบสร้างสุขภาพดีและห่างไกลโรค NCDs
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการกินเจอย่างไรให้มีสุขภาพดี ได้สารอาหารครบ 5 หมู่ ในช่วงเทศกาลอาหารเจที่กำลังจะมาถึงนี้ว่า การกินเจเป็นการปรับเปลี่ยนมิติการรับประทานอาหาร โดยงดบริโภคเนื้อสัตว์แล้วหันมากินอย่างอื่นแทน อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงการเลือกวัตถุดิบทดแทนด้วยเพื่อให้ได้ทั้งสุขภาพที่ดีและได้บุญตามความเชื่อที่ปฏิบัติกันมา ซึ่งส่วนใหญ่การกินเจหนีไม่พ้นใช้อาหารแปรรูปประเภทแป้ง ประเภทมีไขมันสูง ซึ่งมีส่วนผสมทั้งหวาน มัน เค็ม โดยเฉพาะโซเดียมหรือเกลือที่กำลังเป็นที่นิยม เพราะช่วยให้รสชาติดี อาหารเก็บได้นานขึ้น ซึ่งถ้ามีโซเดียมเยอะไปเกินความพอดีของร่างกาย ส่งผลให้เสี่ยงโรคอ้วนและมีโรคต่างๆตามมา เช่น โรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สสส.กำลังรณรงค์การลดการกินเค็มหรือลดปริมาณโซเดียม ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะคนไทยบริโภคเค็มเป็น 2 เท่าในปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคไม่เกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเฉพาะอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปที่เก็บนานๆ มีเกลือเป็นส่วนผสมหลัก ไม่ว่าในน้ำซุป หรือเครื่องปรุงต่างๆ รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใน 1 ซองก็มีปริมาณโซเดียม 1000 มิลลิกรัม ซึ่งการควบคุมไม่ให้ทานโซเดียมมากเกินไปเราสามารถคุมได้ โดยควรเลือกอาหารที่ปรุงสด ปรุงเอง เพื่อให้รู้ปริมาณโซเดียมที่ใส่ลงไปในอาหาร เพราะร้านอาหารทั่วไปเราไม่สามารถรู้ได้ว่ามีปริมาณโซเดียมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแต่ละคนย่อมรู้ตัวว่าเราควรกินรสชาติแบบไหนถึงพอ หรือใช้เทคนิคการเลือกกินอย่างไรเพื่อไม่ให้กินเค็มมากเกินไป เช่น กินเฉพาะเนื้อไม่กินน้ำซุป หรือ การไม่ปรุงเพิ่ม
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สสส.ได้รณรงค์การรับประทานอาหารให้เหมาะสมมาต่อเนื่องภายใต้ข้อมูลทางวิชาการ โดยใช้สูตร 2:1:1 ในอาหาร 1 จานแบ่งเป็น 4 ส่วน โดย 2 ส่วนเป็นผัก 1 ส่วนเป็นอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ในช่วงเทศกาลเจ อาจเปลี่ยนเป็นโปรตีนทดแทนจากธรรมชาติ และอีก 1 ส่วนเป็นแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต วิธีนี้จะช่วยให้ได้ปริมาณอาหารที่เพียงพอ อย่างไรก็ตามเราไม่จำเป็นต้องงด หวาน มัน เค็มทั้ง 3 มื้อ แต่บริหารการรับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อให้สมดุล และให้ได้สารอาหารครบ 5 หมู่ สำหรับการเลือกบริโภคโปรตีนแปรรูปทดแทนเนื้อสัตว์ในช่วงเทศกาลเจนี้ ขอให้เลือกจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน ถูกหลักอนามัย และควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะส่วนใหญ่มีแป้งเป็นส่วนผสมซึ่งหากกินมากจะทำให้อ้วนได้ และควรเลือกกินผักหรือถั่วแทน เพราะผักสามารถกินได้ในปริมาณมาก
“โรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อ ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการทานอาหารไม่เหมาะสม ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และมลภาวะทางอากาศ ถือเป็น 5 ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดโรค NCDs โดยมีประเด็นเรื่องอาหารสำคัญที่สุด มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่กำลังเผชิญกับโรค เบาหวาน ไขมัน ความดัน มะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ เป็นสาเหตุการตาย 3 ใน 4 ของคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งคนไทยควรให้ความสำคัญและระมัดระวังพฤติกรรมความเสี่ยงของตัวเองด้วย” ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส.กล่าวย้ำ