สังคม-CSR

กระทรวงการต่างประเทศจัดแสดงเรื่องราวอันทรงคุณค่า นิทรรศการ “Weaving the Way: A Journey of Thai Silk” 

กระทรวงการต่างประเทศจัดแสดงเรื่องราวอันทรงคุณค่า นิทรรศการ “Weaving the Way: A Journey of Thai Silk” เปิดตำนานเส้นทางงานอนุรักษ์ผ้าไทย ร่วมสืบสานสุดยอดมรดกทางภูมิปัญญาไทยให้ก้าวไกลไปทั่วโลก

กว่า 7 ทศวรรษที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทุ่มเทพระวรกายทรงงานและตั้งพระราชหฤทัยในการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ อันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่แสดงให้เห็นถึงแก่นแท้ของความเป็น “ไทย” โดยเฉพาะงานอนุรักษ์ “ผ้าไทย” อันหมายถึงผ้าทุกชนิดที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยฝีมือคนไทย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าลายขิด ผ้ายก ผ้าจก น้ำไหล มัดหมี่ ผ้าพื้นเมือง ที่ทรงให้ความสำคัญและทรงเป็นแบบอย่างการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เองเสมอมา

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวของมรดกอันล้ำค่าของประเทศไทยที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายและ ไร้ค่าให้กลับมาเป็นอาภรณ์อันงดงามและทรงคุณค่าจนคนทั่วโลกให้การยอมรับ กระทรวงการต่างประเทศ จึงจัดนิทรรศการ “Weaving the Way, A Journey of Thai Silk” ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคม 2565  ณ เจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม เพื่อเผยแพร่เส้นทางการทรงงานด้านการอนุรักษ์ผ้าไทยของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน พร้อมพระปณิธานและพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด เผยแพร่ความงดงามอันแสนวิจิตรของภูมิปัญญาไทยบนเส้นทางที่ก้าวไกลของ “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” รวมทั้งการจัดแสดง   ชุดผ้าไหมไทยโดยฝีมือการออกแบบของสุดยอดนักออกแบบชั้นนำ และผลงานอันวิจิตรงดงามจากของที่รังสรรค์จากผ้าไทย อันเป็นการสนับสนุนผลงานและความสามารถของนักออกแบบไทย ผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยและผ้าไทยสู่สากล

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับการทรงงานอนุรักษ์ผ้าไทย

ภายในงานนิทรรศการ Weaving the Way: A Journey of Thai Silk แบ่งเรื่องราวการเดินทาง ของผ้าไหมไทยออกเป็น ๓ ส่วนจัดแสดง โดยนิทรรศการส่วนที่ ๑ ถ่ายทอดเรื่องราวพระราชกรณียกิจของ   สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทรงงานด้านการอนุรักษ์ผ้าไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เมื่อปี พ.ศ. 2513 โดยทรงสังเกตเห็นหญิงชาวบ้านที่มาเฝ้ารอรับเสด็จต่างนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ และทรงมีรับสั่งถามจนได้ความว่าชาวบ้านทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้ใช้เองแทบทุกครัวเรือน จึงมีพระราชดำริว่า ควรส่งเสริมให้ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ ไว้เป็นอาชีพ เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519

เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรในถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยให้มีรายได้เสริมจากงานหัตถกรรมทอผ้า    รวมถึงงานหัตถกรรมประเภทอื่น ๆ และอนุรักษ์งานฝีมือไทยให้คงอยู่เรื่อยมา ดังพระราชดำรัสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่มาเข้าเฝ้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันพระเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ความตอนหนึ่งว่า

“…ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้วว่า ประชาชนไทยของเราเปรียบเสมือนคลังเก็บรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างแท้จริง เพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสแสดงออกในคุณค่าของเขาเท่านั้น…”

นอกจากเรื่องราวการทรงงานด้านการอนุรักษ์ผ้าไทยแล้ว ในนิทรรศการส่วนที่ 1 ยังจัดแสดงภาพ พระราชกรณียกิจการทรงงานเกี่ยวกับผ้าไทยในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงภาพพระฉายาลักษณ์ในฉลองพระองค์ ชุดผ้าไทยที่งดงามวิจิตรจากฝีมือการออกแบบของดีไซเนอร์ไทยและต่างชาติ ในการเสด็จพระราชดำเนิน    เยือนต่างประเทศ รวมถึงการเสด็จออกทรงรับพระราชอาคันตุกะในประเทศไทย ตลอดจนการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ    ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดงานอนุรักษ์ผ้าไทย

สำหรับนิทรรศการส่วนที่ 2 เป็นการรวบรวมเรื่องราวในการสืบสาน รักษา ต่อยอด งานอนุรักษ์ผ้าไทย  ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีความตั้งพระราชหฤทัยและทรงทุ่มเท พระวรกายเช่นเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังพระดำรัส   จากงานเสวนาวิชาการ “หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2 Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2022 – 2023” เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2565  ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ว่า

“ท่านหญิงอยากจะแบ่งปันความรู้ให้แก่ทุก ๆ คน เพื่อให้ทุก ๆ คนได้มีอาชีพ ได้มีความรู้ และช่วยกัน สร้างความเข้าใจให้กับผู้คนทั่วไปได้รับรู้ว่า อาชีพช่างทอผ้านั้นเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว สร้างรายได้ให้กับชุมชน สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ และข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่า อาชีพช่างทอผ้านี้เป็นอาชีพที่สำคัญ สามารถสร้างเศรษฐกิจที่ดีได้อาชีพหนึ่ง สำหรับท่านที่ได้ก้าวเข้ามาสู่สายอาชีพนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอให้ทุกท่านมีความซื่อสัตย์กับตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งหมายถึงความรักต่ออาชีพนี้ ตั้งใจที่อยู่กับอาชีพนี้ต่อไป”

จัดแสดงผลงานรังสรรค์จากผ้าไทยอันล้ำค่า

ภายในนิทรรศการส่วนที่ 2 ยังจัดแสดงเรื่องราวการสืบสานอนุรักษ์ผ้าไทย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” รวมถึงการจัดแสดงชุดที่ตัดเย็บจาก “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” โดยการออกแบบ  ของนักออกแบบชั้นนำระดับประเทศไทยจากแบรนด์ต่าง ๆ เช่น SIRIVANNAVARI BANGKOK, ISSUE, ASAVA,    VATIT ITTHI, WISHAWISH และ THEATRE

อีกหนึ่งไฮไลท์การจัดแสดงที่ไม่ควรพลาด คือนิทรรศการส่วนที่ 3 เป็นการรวบรวมผลงานชิ้นพิเศษ ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชั้นนำระดับโลก เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับที่รังสรรค์โดยใช้ผ้าไทย มาจัดแสดงเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงความวิจิตรอันงดงาม

ขอเชิญผู้สนใจร่วมชมสุดยอดนิทรรศการที่รวบรวมเรื่องราวของพระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์และส่งเสริมผ้าไทย “Weaving the Way: A Journey of Thai Silk” ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคม 2565 ณ เจริญนครฮอลล์  ชั้น M ไอคอนสยาม