ภาคประชาชน ขอ ส.ส.- ส.ว. รับหลักการวาระแรกแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ปลดล็อคกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ภาคประชาชน ขอ ส.ส.- ส.ว. รับหลักการวาระแรกแก้ร่างรัฐธรรมนูญ 7 ธ.ค.นี้ ปลดล็อคกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้สิทธิ์จัดงานงบฯ แก้ปัญหา – พัฒนาพื้นที่
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายสมโชติ มีชนะ อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้ประสานงานเครือข่ายใต้ มูฟออน (South Move On) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายใต้มูฟออน และเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ได้รณรงค์และรวบรวมรายชื่อประชาชน ส่งมอบให้กับคณะก้าวหน้า เพื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยุติรัฐราชการรวมศูนย์ เพราะการรวมศูนย์อำนาจเป็นข้อจำกัดศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งในด้านงบประมาณ อำนาจการตัดสินใจ การช่วยเหลือ แก้ไข เยียวยาประชาชน เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมสนับสนุนการรวมกลุ่มของประชาชน อีกมีข้อจำกัดในการยกระดับพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานในท้องถิ่น เป็นการฉุดรั้งการพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แช่แข็งศักยภาพของท้องถิ่นอย่างน่าเสียดาย
“เราได้รณรงค์ผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปลดล็อคท้องถิ่นยุติรัฐราชการรวมศูนย์ และเสนอต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็เพื่อให้มีการกระจายอำนาจ ทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่น และยังพลิกหลักการปกครองแผ่นดิน ให้สอดรับกับบริบทและความท้าทายใหม่ของโลก ดังนั้นเราจึงขอเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภา ซึ่งจะมีการลงมติรับหลักการในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ ให้ร่วมกันลงมติเห็นชอบรับหลักการในวาระที่หนึ่ง พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชน องค์กร เครือข่ายต่าง ๆ ร่วมรณรงค์ แสดงจุดยืนต่อการสนับสนุนร่างกฎหมายรัฐรรมนูญมาตราดังกล่าว” นายสมโชติ กล่าว
ด้านนายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นทางออกของการพัฒนาประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้เป็นอย่างดี เพราะอปท. เป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้กับความเดือดร้อนของประชาชนมากที่สุด เข้าใจบริบทของปัญหาทั้งหมด จึงควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้จัดการป้องกัน แก้ไขปัญหา และบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการของพื้นที่ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ควรให้ท้องถิ่นมีอำนาจทำบริการสาธารณะได้ในทุกเรื่อง ยกเว้นที่เกี่ยวกับความมั่นคง เงินตรา หรือเรื่องระหว่างประเทศ
นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน กล่าวว่า ประเทศไทยเสียโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นมานานมาก เพราะถูกกฎระเบียบ การตัดสินใจจากรัฐราชการส่วนกลาง มาลดทอนศักยภาพ ตัดแข้งตัดขาจนแทบทำอะไรไม่ได้ ทำให้แทบจะไม่เห็นภาพการรับมือกับปัญหาทางสังคม ภัยพิบัติ การระบาดของโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที แม้กระทั่งการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชน องค์กรภาคประชาสังคมในท้องถิ่น ก็แทบจะไม่ได้รับการสนับสนุน หรือส่งเสริมเท่าที่ควร การรวบอำนาจทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลางแบบนี้ มันทำให้ประชาชนเสียโอกาสอย่างที่สุด
“ผมยังเชื่อ และหวังว่าวันที่ 7 ธันวาคมนี้ ส.ส. และสว. จะร่วมกันโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้า ซึ่งถือเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวกระโดดตามวิถีทางในระบบอบประชาธิปไตย และคิดว่าเสียงส่วนใหญ่จะช่วยกันหาทางออกให้ประเทศนี้ ทำให้การกระจายอำนาจไปสู่พี่น้องประชาชนเป็นจริงด้วยการตัดสินใจของท่านที่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ล้าหลังเป็นไดโนเสาร์ เต่าล้านปี” นายธีรภัทร์ กล่าว