ในประเทศ

สสส.ชูแคมเปญ “ ลดซด ลดปรุง ลดโรค” ชวนคนไทยห่างไกล โรคไม่ติดต่อ NCDs

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม  ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวถึงการรับประทานอาหารให้ห่างไกลโรค NCDs ว่าโรคNCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน  ไขมัน ความดัน มะเร็ง โรคปอด  โรคหัวใจ  เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมมีสาเหตุมาจาก 5 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การไม่ออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ และการบริโภค นอกจากนี้ โรคNCDs ยังเป็นสาเหตุการตาย 3 ใน 4 หรือ 75%ของคนไทยในปัจจุบันถือเป็นฆาตกรเงียบที่คอยทำลายสุขภาพที่คนทั่วโลกโดยไม่รู้ตัว

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงมีความสำคัญเท่ากัน เรื่องการกินให้ได้สุขภาพดีห่างไกลโรคต้องกินครบ 5 หมู่ กินอย่างพอดีไม่น้อยหรือมากเกินไป  กินผัก  ผลไม้ ให้ได้วันละ 400 กรัม ด้วยเทคนิคง่ายๆ  แบ่งจานข้าวออกเป็น  4 ส่วน ครึ่งหนึ่งควรเป็นผัก 1 ใน 4 ส่วน ควรเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ส่วนที่เหลือเป็นอาหารที่ให้พลังงาน เช่นข้าว ขนมปัง กินแบบนี้ทั้ง 3 มื้อรับรองว่ากินผักครบ 400 กรัมแน่นอน และทำให้ได้รับอาหารในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

“ ปัญหาการกินที่ทำให้เกิดโรค ที่ความสำคัญ ได้แก่ รสหวาน มัน เค็ม โดยเฉพาะความเค็ม ที่มีโซเดียมเป็นส่วนผสมส่งผลต่อสุขภาพค่อนข้างมาก เช่นโรคไต ความดันโลหิต สูง และโรคหัวใจและนำไปสู่โรคอื่นๆอีกมากมาย เรื่องเค็มถือว่าเป็นประเด็นที่รณรงค์มาแล้วกว่า 10 ปี โดยจะเห็นข้อมูลตามสื่อสาธารณะมากขึ้น ซึ่งพิษภัยที่เกิดจากความเค็มไม่ได้น้อยกว่า ความหวานเลย แต่ที่ให้ความสำคัญคือภาพรวมการเลือกรับประทานอาหารในชีวิตปกติ อาหารแปรรูป  การปรุงที่เกินพอดี องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าในแต่ละวันควรบริโภคโซเดียมประมาณ 2,000 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา โดยปัจจุบันมีการบริโภคโซเดียมอยู่ที่วันละ 3,600 มิลลิกรัมทำให้ในแต่ละปีสูญเสียเงินจากการฟอกไต หลายพันล้านบาท จึงต้องช่วยกันรณรงค์ป้องกันตั้งแต่เริ่มแรกดีกว่าแก้ไขในภายหลัง” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่าการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรคในปีที่ผ่านมา เพื่อลดโรคNCDs และลดการบริโภคโซเดียม จากข้อมูลทางวิชาการพบว่าในน้ำซุปเป็นแหล่งโซเดียมที่สำคัญจากการสำรวจพบว่าในน้ำซุป 1 ถ้วยมีโซเดียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัม ประกอบด้วยน้ำแกง น้ำพะโล้ น้ำซุปข้าวมันไก่ น้ำก๋วยเตี๋ยว   ปีนี้จึงให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำซุป จึงได้ใช้แคมเปญว่า “ ลดซด ลดปรุง ลดโรค ” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนรู้ถึงพิษภัยของความเค็มและช่วยกันลดปริมาณโซเดียมลง โดยร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ ผ่านสื่อต่างๆเพื่อให้ข้อมูลและเตือนให้ประชาชนนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินในแต่ละวันโดยใช้เครื่องปรุงที่ลดโซเดียมในกลุ่มคนที่เป็นโรคแล้ว และกลุ่มที่ยังไม่เกิดโรคต้องป้องกันตนเองรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม ทานผักผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม

“ จากการณรงค์ที่ผ่านมาพบว่าปัจจุบันคนเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากทั้งเรื่อง  หวาน มัน เค็ม ส่วนเรื่องของโรคที่เกิดจากพฤติกรรมจะลดลงหรือไม่นั้นต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามการเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมในวันนี้ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวแน่นอน  หลังการรณรงค์จะ มีการสำรวจเป็นระยะ 3-5 ปี เมื่อก่อนพบคนไทยบริโภคโซเดียมถึง 4,000 มิลลิกรัมในปัจจุบันลดลงเหลือ 3,600 มิลลิกรัม หลังจากนี้หวังว่าจะลดลง 10-20% เป็นอย่างน้อยเพราะการลดความเค็มแม้เพียงเล็กน้อยจะช่วยลดภาระสุขภาพที่อาจเกิดจากโรค NCDsได้  “ ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

 อย่างไรก็ตาม สำหรับเทคนิคการเลือกรับประทานอาหารลดโซเดียมคือการกินอาหารปรุงสด  ดูสลากโภชนาการ  ชิมก่อนปรุง ลดการปรุงเพิ่ม กินน้ำซุปแต่น้อย และเพิ่มผักให้มาก ข้อแนะนำอีกอย่างไม่ควรนำเครื่องปรุงวางบนโต๊ะอาหารจะทำให้ลดการปรุงเพิ่มได้  ส่วนอาหารที่ไม่ได้ปรุงแต่มีโซเดียมได้แก่ ขนมปัง เค้ก ไอศกรีม ควรรับประทานอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามเพื่อความมั่นใจต้องอ่านสลากโภชนาการทุกครั้ง