สาธารณสุข

สรพ. ชู รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ต้นแบบ ‘หลักคิด’ โรงพยาบาลชุมชนใช้เทคโนโลยีจัดระบบบริการ เพิ่มคุณภาพการรักษา

สรพ. ลงพื้นที่โรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ สถานพยาบาลชุมชนที่ผ่าน การรับรองกระบวนการคุณภาพตามมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ ระบบพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (HA IT) ปี 2565 ที่ได้นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีมาจัดระบบการให้บริการ แก้ปัญหาในโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาสู่ประชาชน

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ที่โรงพยาบาลคูเมือง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) พร้อมคณะทำงานและสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ระบบบริการของโรงพยาบาลคูเมือง ที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ ระบบพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (HA IT) โดยมี นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

นพ.กิตติ กล่าวว่า โรงพยาบาลคูเมืองเป็นโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิระดับ F1 (ขนาด 60 เตียง) ซึ่งมีประชากรในพื้นที่ 67,812 คน โดยที่ผ่านมาพบข้อจำกัดในการบริการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์โรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ที่ทำให้ต้องมีการบริการแบบ Social Distancing ทางโรงพยาบาลจึงมองเรื่องของเทคโนโลยี ที่จะมาช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น และยังช่วยลดข้อผิดพลาดในการรักษา

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง อธิบายถึง การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ว่า จะต้องมองเห็นก่อนว่าปัญหาที่เราเจอคือจุดไหน แล้วค่อยนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาอุดรอยรั่ว เช่น ตอนนี้เรามีข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นค่าแล็บ ผลเลือด การวินิจฉัยโรค เทคโนโลยีสามารถนำมาตรวจจับวิเคราะห์ได้ว่าผู้ป่วยคนไหนมีความเสี่ยงจะเกิดโรคอะไร เพื่อนำเขามาเข้าสู่การปรับพฤติกรรม การดูแลเบื้องต้นก่อนที่จะเกิดความรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีในการสั่งจ่ายยา ที่จะช่วยแก้ไขเรื่องการสั่งยาผิด เพราะเมื่อมีผู้ป่วยเยอะอาจทำให้ความจำของแทพย์ผิดพลาดได้ นอกจากนี้ประโยชน์ของเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิ อย่างโรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล หรือ รพ.สต. คือการส่งต่อคนไข้ที่ผ่านภาวะวิกฤติจากการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว เขาต้องเข้าสู่การฟื้นฟู โดยอยู่ในการดูแลของ รพ.สต. เราก็จะมีเครื่องมือที่ใช้ในการส่งต่อข้อมูลซึ่งกันและกัน เราก็เอาแอปฯ ที่ใช้ในการสื่อสารมาใช้ให้เกิดประโยชน์

“โดยโปรแกรมที่นำมาปรับใช้ เป็นโปรแกรมพื้นพื้นฐานทั่วไป ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก ได้แก่ Microsoft word, Excel, PowerPoint, Infographic, Google Drive, Google Data Studio, และ Zoom โดยจะยึดหลักความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการสร้างเครือข่ายระบบสุขภาพ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากไปรษณีย์ไทย ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการจัดส่งยาถึงบ้าน โดยไม่ต้องรอรับยานานที่โรงพยาบาล” นพ.กิตติ กล่าว

ขณะที่ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า โรงพยาบาลคูเมืองเป็น 1 ใน 2 สถานพยาบาล ที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ ระบบพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (HA IT) โดย สรพ. โดยอีกแห่งคือโรงพยาบาลน่าน ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมีความสนใจเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม เมื่อนำมาปรับใช้กับระบบบริการของโรงพยาบาลก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแค่ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานในการรักษาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังช่วยลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น อันส่งผลไปถึงประชาชนที่เข้ามารับบริการ ที่สำคัญจะเห็นภาพชัดเจนเลยว่าบุคลากรตั้งใจและมีวิสัยทัศน์เดียวกันที่พัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพ และเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

“โดยหัวใจสำคัญที่ สรพ. ใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินระบบพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (HA IT) มีคีย์เวิร์ดสำคัญว่าเรานำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพัฒนาระบบบริการและขับเคลื่อนองค์กรบรรลุวิสัยทัศน์ได้อย่าง โดยมุ่งเน้นใน 4 ประเด็น ที่รพ.คูเมืองสะท้อนให้เห็นชัดเจน คือ 1.Process Management หรือ การจัดการกระบวนการโดยใช้เทคโนโลยีมาร่วมออกแบบกระบวนการ จะเห็นชัดเจนว่า มีการพัฒนาดำเนินการอย่างเป็นระบบและตลอดสาย มีการวิเคราะห์ตลอดสาย ตั้งแต่การเข้ามารับบริการ จนคนไข้กลับบ้าน 2. Result หรือ ผลลัพธ์ การใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิตอล เข้ามาช่วยสนับสนุนเพื่อวิเคราะห์และสะท้อนผลลัพธ์การดูแลรักษา รวมถึงใช้เทคโนโลยีสนับสนุนให้ผลลัพธ์การรักษาหรือการทำงานดีขึ้น 3. Learning คือ มีการเรียนรู้ ดำเนินการทำแล้วต้องปรับ เมื่อนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้แล้ว ก็ต้องมีการปรับปรุงหมุนวงล้อการพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อพัฒนาระบบบริการ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดเวรที่มีประสิทธิภาพ และ 4. Quality คุณภาพ ซึ่งที่โรงพยาบาลคูเมืองแห่งนี้ กล่าวได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการโปรแกรมพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (HA IT) ของ สรพ. ซึ่งเราทำเรื่องนี้ขึ้นมาโดยอาศัยงบประมาณจาก สำนักงบประมาณ เพราะเห็นว่าเรื่องดิจิทัล เรื่องเทคโนโลยี สำคัญ เราจำเป็นต้องสร้างความตระหนักให้กับสถานพยาบาลในการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าไปใช้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์กับองค์กรตัวอย่างของโรงพยาบาลคูเมือง ต้องชื่นชมและทำได้ดีมาก คือ การกำหนดทิศทางขององค์กรว่าจะไปทางไหน และนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในด้านใดบ้าง”  พญ.ปิยวรรณ กล่าว

พญ.ปิยวรรณ ยังกล่าวอีกว่า โรงพยาบาลคูเมือง นับว่าเป็นต้นแบบในเรื่องของหลักคิด เนื่องจากบริบทของโรงพยาบาลให้แต่ละแห่งแตกต่างกัน เทคโนโลยีในแต่ละที่ก็ต่างกัน อย่างโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่บนเขา พื้นที่ห่างไกลอาจจะใช้เทคโนโลยีในบางรูปแบบไม่ได้ แต่อาจจะใช้เทคโนโลยีในบางรูปแบบได้ แต่ในเรื่องของหลักคิดสำคัญมาก ในบริบทของโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลชุมชนว่ามีปัญหาอย่างไร กลุ่มผู้ป่วยเป็นแบบไหน ซึ่งของโรงพยาบาลคูเมือง เอาเทคโนโลยีมาออกแบบระบบบริการเพื่อการดูแลคนไข้ให้ดีขึ้น จากนั้นเมื่อได้หลักคิดแล้วเกิดการลงมือปฏิบัติ โดยการออกแบบกระบวนการที่ตอบโจทย์ปัญหานั้นๆ ซึ่งแนวทางการใช้เทคโนโลยีของโรงพยาบาลคูเมือง ที่ผ่านการรับรองนี้ จะมีการนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 23 ด้วย โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 14-17 มีนาคม 2566 ภายใต้แนวคิดหลัก “Synergy for Safety and Well-being” ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี