สาธารณสุข

สสส.สานพลังภาคีผู้สูงอายุดูแลผู้สูงวัยแบบครบวงจร

สสส.สานพลังภาคีผู้สูงอายุ ดูแลสูงวัยที่เดิม ป้องกันการพลัดตกหกล้ม ปรับสภาพแวดล้อม เอื้อต่อความเป็นอยู่ โดยชุมชนมีส่วนร่วม พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในการรักษายามเจ็บป่วย

ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) (สรพ.) และภาคีเครือข่ายจัดการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 23 “Synergy for Safety and Well-being” ผนึกกำลังเพื่อความปลอดภัย และสุขภาวะ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. โดยนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “Ageing-in-Place สูงวัยที่เดิม ความท้าทายที่ต้องเผชิญ” ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีจำนวนผู้สูงอายุ 28% ของประชากรประเทศ การสนับสนุนสูงวัยในที่เดิม คือทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ดี สร้างความปลอดภัยในบ้าน สังคมร่วมดูแล ครอบครัวให้ความรัก ความผูกพัน มีระบบบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทการใช้ชีวิต

“การสร้างเสริมสุขภาพทั้งก่อน และหลังการเข้าสู่วัยสูงอายุจึงมีความสำคัญ การจะเป็นสูงอายุที่สุขภาพดี จำเป็นต้องเริ่มสร้างตั้งแต่วันนี้ ดังนั้นสำหรับกลุ่มที่ยังไม่ป่วย แต่อาจเริ่มมีภาวะเสื่อมถอย สสส. จึงสานพลังภาคีเครือข่ายทำงานป้องกัน ความเสื่อมถอยของผู้สูงอายุ ร่วมกับสมาคมหมออนามัย ในการดูแลแบบครบวงจรทั้งเรื่องการออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อ การดูแลโภชนาการ การมีฟันที่ดีจึงจะได้สารอาหารที่ครบถ้วน การดูแลรักษาการมองเห็น รวมถึงโครงการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุโดยชุมชนมีส่วนร่วม ที่ไม่เพียงแต่การให้ดูแลตัวเอง ครอบครัว ชุมชน สภาพแวดล้อมและสภาพบ้านก็ต้องเอื้อต่อการอยู่ที่บ้านของผู้สูงอายุด้วย แต่เมื่อผู้สูงอายุเกิดการเจ็บป่วยหรือมีความพิการ การมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกจึงเป็นสิ่งจำเป็น อาทิ ที่นอนลมไฟฟ้าป้องกันแผลกดทับ เครื่องผลิตออกซิเจน เตียงปรับระดับ เครื่องดูดเสมหะ ถ้ามีอุปกรณ์สำหรับการดูแลที่บ้านที่ดี แม้ว่าผู้สูงอายุอาจจะพิการแต่เมื่อฟื้นฟูสมรรถภาพได้ดี อาจเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยจากติดเตียงเป็นออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ระบบสุขภาพจึงต้องมีส่วนร่วม เข้าไปดูแลผู้ป่วย โดย สสส. ได้ร่วมกับหลายภาคีเครือข่ายในการพัฒนา ผ่านกลไก 3 หมอ โดยเฉพาะ อสม. หมอคนที่ 1 ที่เป็นคนในชุมชน จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ ในการใช้ชีวิตในบ้านที่เคยอยู่ ชุมชนที่คุ้นเคย อย่างปลอดภัย ป่วย รักษา และได้รับการดูแลที่บ้าน อย่างเหมาะสม โดยทีมใกล้บ้าน ใกล้ใจ นอกจากนี้ สสส. ยังส่งเสริมบริการสุขภาพที่เข้าถึงชุมชน ทำระบบสุขภาพตั้งแต่ระดับปฐมภูมิในเขตเมือง และท้องถิ่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ และคนในชุมชน จัดตั้งกองทุนเพื่อสุขภาพ ทั้งหมดนี้ มุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพที่บ้านอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการรักษายามเจ็บป่วย