สังคม-CSR

UNHCR ขยายความร่วมมือ “โครงการรอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต ปีที่ 6”

UNHCR ขยายความร่วมมือ “โครงการรอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต ปีที่ 6” ไปยังหลากหลายภาคส่วนในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความช่วยเหลือท่ามกลางวิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วโลก

สงคราม ความขัดแย้ง ความรุนแรง และการประหัตประหาร บังคับให้ผู้คนมากกว่า 103 ล้านคนทั่วโลกต้องพลัดถิ่นจากบ้านของตนเองเพื่อแสวงหาความปลอดภัย ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ โดยกว่าครึ่ง คือชาวมุสลิม ท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งใหม่ วิกฤตเดิมยังคงไม่สิ้นสุด รวมถึงวิกฤตที่ทับซ้อนวิกฤตทั่วโลก เช่น เหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่ทูร์เคียและซีเรีย ส่งผลให้ชาวซีเรียต้องพลัดถิ่นอีกครั้งท่ามกลางสงครามที่ยาวนานกว่า 12 ปี รวมถึงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในประเทศบังคลาเทศที่กำลังไร้ที่อยู่อาศัยจากเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ผ่านมา

“พันธกิจของเราคือการมอบความช่วยเหลือในวิกฤตด้านมนุษยธรรมทั่วโลก รวมถึงในเหตุขัดแย้งและวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศ เช่น ในประเทศซีเรีย เยเมน หรือจะงอยแอฟริกา ซึ่งส่งผลกระทบและทำให้ผู้คนต้องพลัดถิ่นหลายล้านคน” คุณจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าว “เราจึงต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อขยายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น เพื่อให้เราสามารถมอบความคุ้มครองแก่พี่น้องผู้ลี้ภัยที่กำลังทุกข์ยากต่อไป”
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ริเริ่ม “โครงการรอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต” ขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ร่วมกับ สำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อสร้างการรับรู้และการระดมทุนทานประจำปีซะกาตและซอดาเกาะห์ ซึ่งเป็นการบัญญัติขึ้นตามหลักศาสนาอิสลามเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยาก และมอบความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิมทั่วโลก ผ่านโครงการเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้พวกเขาสามารถตอบสนองความจำเป็นในชีวิตประจำวันได้ในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ซึ่งในปีนี้ พวกเขากำลังจะศีลอดในช่วงเวลาที่มีความท้าทายถึงขีดสุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจโลก ความยากจน ความขาดแคลนด้านอาหาร ภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ รวมถึงงบประมาณและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไม่เพียงพอ
“ผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมหลายล้านคนต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนี้อย่างยากลำบากที่สุดท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความท้าทายเกิดขึ้นใหม่ ความยากจนที่ทวีความรุนแรงจากสงครามและความขัดแย้งที่ยาวนาน ภัยธรรมชาติที่คาดการณ์ไม่ได้ งบประมาณที่ไม่เพียงพอ และความไม่มั่นคงทางอาหารโลก ขอพี่น้องมุสลิมทุกคนไม่ลืมผู้ลี้ภัย และยังคงเป็นมือบนที่ไม่ปล่อยมือจากพวกเขา มอบความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่ขาดแคลนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และเพิ่มความหวังในหัวใจของชาวมุสลิมในเดือนอันศักดิ์สิทธิ์นี้” อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี กล่าว


ในการรับบริจาคทานประจำปีซะกาต UNHCR ทำงานร่วมกับมูลนิธิทาบาห์ องค์กรชั้นนำทางศาสนา และได้ขยายการรับรองระดับโลกจากนักวิชาการศาสนา (นักฟัตวา) มากถึง 15 ท่าน จาก 10 ประเทศ เช่น อียิปต์ เยเมน โมร็อกโก มอริเตเนีย รวมถึงประเทศไทย เพื่อรับรองหน่วยงานว่ามีคุณสมบัติในการรับทานซะกาตและสามารถมอบความช่วยเหลือนี้โดยตรงแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม ได้แก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิม ให้พวกเขาได้มีอาหารที่พอเพียง น้ำสะอาดไว้ใช้และดื่ม ที่พักพิงที่ปลอดภัย และเงินสมทบช่วยเหลือ

“ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบชะรีอะฮ์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักคุณธรรมและส่งเสริมความเสมอภาคของสังคม ธนาคารมีบริการจัดการซะกาตให้แก่ลูกค้า โดยมุ่งเน้นจัดสรรให้กับบุคคลที่มีสิทธิ์รับซะกาตภายในประเทศ การร่วมมือกับ UNHCR ซึ่งมีจุดมุ่งหมายการทำงานเดียวกัน ธนาคารจะได้ขยายขอบเขตการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสู่ระดับนานาชาติ โดยเฉพาะเรื่องผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนระดับโลกตอนนี้เพื่อให้พวกเขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อให้ชาวไทยมุสลิมได้มีส่วนร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้นเพื่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน ในช่วงเดือนรอมฎอนที่กำลังจะมาถึง” ดร. ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือจากธนาคารอิสลามด้านความรับผิดชอบต่อสังคมโลก


ตลอดโครงการฯ ทานซะกาตและซอดาเกาะห์ที่จัดทำขึ้นทั่วโลก ทำให้ UNHCR มอบความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้ลี้ภัยไปแล้วมากกว่า 6 ล้านคน ใน 26 ประเทศทั่วโลก เช่น อัฟกานิสถาน อิรัก ปากีสถาน บังคลาเทศ มาเลเซีย เยเมน และไนจีเรีย เป็นต้น ในปีที่ 6 นี้ UNHCR และ สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ขยายความร่วมมือกับสู่องค์กรภาคีเพื่อมนุษยธรรมจากธนาคารชะรีอะห์ สื่อพันธมิตร และเยาวชนรุ่นใหม่ในประเทศไทย ขับเคลื่อนการกระตุ้นการระดมทุนทานประจำปีอย่างต่อนื่อง เพิ่มความช่วยเหลือถึงผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมทั่วโลกที่กำลังพลัดถิ่นจากวิกฤตที่ยาวนานอย่างยั่งยืน


“รอมฎอนมีความหมาย มากกว่าช่วงเวลาสำคัญในศาสนา แต่หมายถึงการให้การแบ่งปันเพื่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน การจับมือครั้งสำคัญระดับโลกกับ UNHCR ทำให้เราสามารถต่อยอดเนื้อหาอย่างสอดคล้องกับวิสัยทัศน์องค์กร เพื่อส่งเสริมสังคม คุณธรรม และจริยธรรม พร้อมขยายน้ำใจจากชาวไทยมุสลิมไปถึงพี่น้องของเราที่ต้องการความช่วยเหลืออีกหลายล้านคนทั่วทุกมุมโลก” คุณกฤษณพล พงศ์ธนาวรานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีบูรพา กรุ๊ป จำกัด


โครงการรอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต ปีที่ 6 ยังได้รับความร่วมมือจากสื่อพันธมิตรใหม่เพื่อเข้าร่วมชุมชนแห่งการให้


“สื่อมีส่วนสำคัญในการสร้างการรับรู้ สนับสนุนการระดมทุน และส่งเสริมการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสเข้าใจเรื่องราวของผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมมากขึ้น ผมอยากให้ทุกคนร่วมเป็น

กระบอกเสียงส่งต่อการรับรู้เหล่านี้ เป็นสะพานบุญช่วยเหลือพี่น้องของเราทั่วโลกให้ได้มากที่สุด เพื่อให้พวกเขาสามารถมีเดือนอันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับเรา” คุณวิทยากร อิสมาแอล บรรณาธิการบริหาร Halal Life Magazine เสริมถึงการสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มพี่น้องชาวไทยมุสลิม


ท่ามกลางสถานการณ์โลกรอบด้านที่ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมต้องเผชิญวิกฤตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน “โครงการรอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต” จะช่วยมอบงบประมาณให้ UNHCR สามารถจัดสรรทรัพยากรทางการเงินอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน และนำทานซะกาตทั้งหมด 100% ไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ตรงตามคุณสมบัติที่ควรได้รับภายใต้การดูแลและตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อความโปร่งใสในทุกขั้นตอนตั้งแต่การบริจาคจนถึงการให้


ในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์นี้ โปรดอย่าลืมผู้ลี้ภัย ร่วมบริจาคทานของท่านได้ที่เว็บไซต์ www.unhcr.org/th