บริษัทบุหรี่ไฟฟ้า JUUL ต้องยอมจ่ายเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท เพื่อยอมความในคดีถูกฟ้องทำการตลาดพุ่งเป้าเด็ก
บุหรี่ไฟฟ้าเจอดีแล้ว หลายมลรัฐในอเมริกาแห่ฟ้อง ทำให้บริษัทบุหรี่ไฟฟ้า JUUL ต้องยอมจ่ายเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท เพื่อยอมความในคดีถูกฟ้องทำการตลาดพุ่งเป้าเด็ก ผิดข้อหา หลอกบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา
วันที่ 21 เม.ย.66 รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า บริษัทบุหรี่ไฟฟ้า JUUL Labs เจ้าของบุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอต JUUL ที่ขายดีที่สุดในอเมริกา จนทำให้เกิดการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กมัธยม ถูกกล่าวหาต่อศาลจากอัยการของรัฐต่างๆ รวมทั้งจากโจทก์ที่เป็นบุคคลต่างๆว่า บุหรี่ไฟฟ้า JUUL ทำการตลาดด้วยการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และทำการตลาดพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน จนบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า JUUL Labs ตกลงยุติคดี กับโจทย์ที่ฟ้องร้อง ก่อนการตัดสินของศาล โดยยอมจ่ายค่าเสียให้แก่โจทก์ รวมทั้งสัญญาว่าจะยุติการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา JUUL ต้องจ่ายค่าเสียหายรวมทั้งสิ้นกว่า 2,600 ล้านดอลลาร์หรือประมาณกว่า 9 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการทยอยจ่ายตามคำสั่งศาล ได้แก่ 1.มิถุนายน 2564 จ่ายให้แก่รัฐนอร์ทแคโรไลนา 40 ล้านดอลลาร์ 2.พฤศจิกายน 2564 จ่ายให้แก่รัฐอริโซน่า 14.5 ล้านดอลลาร์ 3.เมษายน 2565 จ่ายให้แก่รัฐวอชิงตัน 22.5 ล้านดอลลาร์ 4.กันยายน 2565 จ่ายให้แก่อัยการ 34 รัฐที่ร่วมกันฟ้อง 438.5 ล้านดอลลาร์ 5.ธันวาคม 2565 จ่ายให้แก่โจทย์ 10,000 ราย ที่ฟ้องใน 5,000 คดี เป็นเงินประมาณ 1,700 ล้านดอลลาร์6.เมษายน 2566 จ่าย 462 ล้านดอลลาร์แก่ 6 รัฐใหญ่ที่ร่วมกันฟ้อง ซึ่งโจทก์จะนำเงินที่จำเลยชดใช้ ไปสนับสนุนการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และรักษาเพื่อเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า
“การที่บุหรี่ไฟฟ้า JUUL นิยมในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นนอกจากการโฆษณาทำการตลาดที่พุ่งเป้าที่เด็กแล้ว ส่วนผสมของน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า JUUL ยังมีการดัดแปลงส่วนผสมของสารนิโคติน โดยเปลี่ยนจากนิโคตินธรรมดาเป็นเกลือนิโคติน (salt nicotine) ซึ่งทำให้สูบง่ายกว่าเดิม ลดการระคายคอ แต่มีฤทธิ์เสพติดรุนแรงขึ้น บุหรี่ไฟฟ้า JUUL 1 แท่งมีปริมาณนิโคตินเทียบเท่ากับบุหรี่ธรรมดาถึง 20 มวน ซึ่งสูตรเกลือนิโคตินนี้ ผู้บริหาร JUUL ได้ศึกษามาจากโครงการในอดีตของบริษัทบุหรี่ยี่ห้อหนึ่งซึ่งต้องการทำการตลาดเจาะไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนโดยการวิจัยเพื่อจะผลิตบุหรี่ที่จะทำให้เด็กสูบง่ายขึ้น เพราะเมื่อเด็กติดบุหรี่แล้วจะกลายเป็นลูกค้าของบริษัทบุหรี่ในระยะยาว และปัจจุบันบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ที่ถือหุ้นในบุหรี่ไฟฟ้า JUUL กำลังวิ่งเต้นนักการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย ให้ยกเลิกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในไทย” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า หลังจากที่บุหรี่ไฟฟ้า JUUL ได้เข้าสู่ตลาด ปัจจุบันผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าได้ทำรูปแบบพอตใหม่ ๆ เป็นแบบใช้แล้วทิ้งซึ่งกำลังระบาดมากในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมทั้งในประเทศไทย ที่มีการส่งเสริมการขายเกลื่อนออนไลน์ ที่น่ากลัวคือพอตแบบใช้แล้วทิ้งหลายยี่ห้อมีปริมาณสารเสพติดนิโคตินสูงมากเทียบเท่ากับบุหรี่ธรรมดาถึง 50 มวน ทำให้เสพติดง่ายและเลิกยาก ซึ่งจากข้อมูลในต่างประเทศพบความนิยมของบุหรี่ไฟฟ้าแบบพอตใช้แล้วทิ้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลล่าสุดของปี 2565 พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในอเมริกาจำนวน 2.55 ล้านคน สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยกว่าครึ่ง 55.3% สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบพอตใช้แล้วทิ้ง
อ้างอิง
Juul to pay $462 million to six states in its largest settlement ever: https://edition.cnn.com/2023/04/12/business/juul-settlement/index.html
Nicotine delivery and cigarette equivalents from vaping a JUUL pod: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33762429/
More than 2.5 Million Youth Reported E-Cigarette Use in 2022: https://www.cdc.gov/media/releases/2022/p1007-e-cigarette-use.html