สสส. สานพลัง 48 องค์กร ประกาศปฏิญญาอ่าวลันตา เดินหน้า 9 หมุดหมายพัฒนา อ.เกาะลันตา สู่ความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 ณ ศาลาประชุมอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จังหวัดกระบี่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม จำนวน 48 หน่วยงาน ลงนามและประกาศ “ปฏิญญาอ่าวลันตา” มุ่งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรม คุณภาพชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ อ.เกาะลันตา
รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีขยะรั่วไหลลงทะเลติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ขยะที่ลงทะเลร้อยละ 80 เป็นขยะที่เกิดขึ้นบนบก ร้อยละ 20 เป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมในทะเล โดยพบโฟมและขยะพลาสติกบนฝั่งที่กำจัดไม่ถูกต้องจำนวนมาก เมื่อโฟมและพลาสติกลงสู่ทะเลจะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ เรียกว่าไมโครพลาสติก ซึ่งจะปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารผ่านการบริโภคอาหารทะเล มีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ระบุตรงกันว่า ไมโครพลาสติก หรือเศษพลาสติกที่ล่องลอยอยู่ในทะเลเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ระบบนิเวศทางทะเลโดยตรง และปนเปื้อนในระดับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร รวมถึงสารประกอบของพลาสติกบางตัว ยังส่งผลถึงระบบสืบพันธุ์ในสิ่งมีชีวิตได้อีกด้วย การที่ สสส. จะสร้างเสริมสุขภาพประชาชน จึงต้องให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย
“ปฏิญญาอ่าวลันตา จะผลักดัน 9 เจตจำนงและหมุดหมายสำคัญ 1.การประมงยั่งยืน 2.อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 3.พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจเกื้อกูล 4.การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน 5.เชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับชุมชนท้องถิ่น 6.ลดภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล 7.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและใช้พลังงานสะอาด 8.พัฒนาทางสังคมและคุณภาพชีวิต 9. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อคุ้มครองรักษา อ.เกาะลันตาควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะและสิ่งแวดล้อม” รศ.ดร.สมิทธิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า โฟมและพลาสติกที่รั่วไหล หรือถูกทิ้งอย่างจงใจลงสู่ทะเล เป็นภัยด้านสิ่งแวดล้อมและอันตรายสะสมต่อสุขภาพของคน ซึ่งอาจไปไกลถึงการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ก่อผลกระทบในขอบเขตทั่วโลกจากการเชื่อมถึงกันของมหาสมุทร ดังนั้นปัญหาขยะจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องร่วมกันดำเนินการแก้ไขในระดับแนวคิด นโยบาย การนำมาตรการทางภาษีและเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหา การกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติของหน่วยงานรัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และครัวเรือน
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย โดยมุ่งเน้นการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565 – 2570) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่ต้นทางตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการเกิดขยะ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเลือกใช้สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ซ้ำและเรียกคืนกลับไปรีไซเคิลได้ การคัดแยกขยะมูลฝอย ณ ต้นทาง ให้สอดคล้องกับรูปแบบการกำจัดขยะมูลฝอยปลายทาง เพื่อให้มีการนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุด ทั้งในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล (Material recovery) และพลังงาน (Energy recovery) ให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด เป็นการลดขยะทะเลลงอีกทางหนึ่งด้วย
ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัจจุบันขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งกำลังเป็นประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก รัฐบาล กำหนดให้ปัญหาขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564 – 2568 หรือ ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris, 2021 – 2025 ในส่วนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ดำเนินการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในทะเลและชายฝั่ง รวมถึงป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของขยะทะเล ในปี 2564 ที่ผ่านมา ทช. ได้จัดเก็บขยะทะเลที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลจำนวน 3,950,904 ชิ้น รวมน้ำหนักกว่า 443,987 กิโลกรัม