ในประเทศ

6 พรรค โชว์กึ๋นกฎหมายภาษี เวทีหอการค้าฯ “Thailand 5.0 ปฏิรูปภาษีเพื่อชีวิตที่ดีกว่า”

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงานเสวนา “Thailand 5.0 ปฏิรูปภาษีเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” จัดโดยคณะกรรมการกฎหมายภาษี ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมายภาษี โดยมีผู้แทนจาก 6 พรรคการเมืองเข้าร่วม ประกอบด้วย นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ ณ ห้อง UTCC EVENT LAB อาคาร 23 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเผยแพร่ผ่าน Facebook Live Streaming : ThaiChamber ไปพร้อมกันด้วย

นายสนั่น กล่าวว่า “การเสวนาในหัวข้อ “Thailand 5.0 ปฏิรูปภาษีเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ถือเป็นเวทีสาธารณะให้แก่พรรคการเมืองได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายและมาตรการภาษีที่ปฏิบัติได้จริง ซึ่งประเด็นคำถามส่วนหนึ่งมาจากข้อเสนอที่ภาคธุรกิจและประชาชน ที่ต้องการทราบถึงแนวทางในการพัฒนาและยกระดับนโยบายด้านภาษีของประเทศ ในลักษณะ Two-Way Communication โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญเรื่องภาษีสรรพากรและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและประชาชนโดยตรง เชื่อว่านโยบายด้านภาษีที่ดีและมีความชัดเจน จะช่วยดึงดูดและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและประชาชนและพร้อมเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องได้มากขึ้น นอกจากนี้ รูปแบบการจัดเก็บภาษีของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาลในการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบ และท้ายที่สุดก็จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและประเทศชาติ

ด้าน ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการกฎฏหมายภาษี หอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะนำประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร ซึ่งจัดเก็บโดย 3 หน่วยงานหลักภายใต้กระทรวงการคลัง ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ซึ่งล้วนเป็นรากฐานสำคัญและเป็นแหล่งรายได้หลักของภาครัฐมากล่าวถึง เพื่อสะท้อนปัญหาและสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ ด้านนโยบายและมาตรการภาษี พร้อมทั้งรับทราบนโยบายและมาตรการด้านภาษีของแต่ละพรรคการเมืองที่จะนำมาปฏิบัติในอนาคต และจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และความยั่งยืน โดยเฉพาะการสนับสนุนแก้ไขปัญหาและต่อยอดการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล ภายใต้แนวทาง BCG หรือ Bio Circular Green และ ESG หรือ Environment Social Governance ได้จริง

ทั้งนี้ ผู้แทนจาก 6 พรรคการเมืองได้ร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์ “Thailand 5.0 ปฏิรูปภาษีเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” กันอย่างหลากหลาย โดย นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย กล่าวว่า การปฏิรูปภาษี พรรคก้าวไกล ยึดโยง 4 เรื่อง เพิ่มรายได้ ประสิทธิภาพของต้นทุน พอมีประสิทธิภาพของต้นทุนที่ดี การจัดเก็บภาษีก็ลดลงได้และเป็นธรรมง่ายต่อการจัดเก็บ รวมทั้งเพิ่มนโยบายให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน ลดการผลิตคาร์บอน ถ้าลดได้ ก็จะให้นำมาหักค่าใช้จ่ายลดภาษีได้ ประชากร ประชาชนที่ลดถุงพลาสติก สามารถลดหย่อนภาษีได้ สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ควรเก็บจากการบริการ  แต่ควรเก็บจากกำไรที่ได้มาจากตลาดหลักทรัพย์ ส่วนการเก็บภาษีที่ดิน  จะเห็นได้ว่ามีการหลบเลี่ยง เช่น ปลูกกล้วย มะนาว ตรงนี้จะผลักดันให้ท้องถิ่นเข้ามาจัดการ เช่น ให้ปลูกตามสีของผังเมืองนั้นๆ ส่วนการตีความของศุลกากร ต้องมีฐานข้อมูล ที่ตรงกัน และตรวจสอบได้ ซึ่งการค้าขายต่างแดน ต้องมีเอกสารแบบเดียวกัน ไม่ต้องหลายแบบ หลายใบ มาตรฐานเดียวกันทั้งอาเซียน นอกจากนี้ บริการภาครัฐต้องเป็น digital ทั้งหมด

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า หลักคิดของพรรคชาติพัฒนากล้าจะเน้นให้มีการแข่งขัน ลดบทบาทของทุนผูกขาด เปลี่ยนทุนผูกขาดเป็นทุนเผื่อแผ่ และเราจะไม่เน้นประชานิยมแต่จะเน้นโอกาสนิยม โดยจะเน้นโอกาสให้กับคนทำธุรกิจหรือประชาชนตัวเล็กๆ ให้ลืมตาอ้าปากได้ เหตุที่เราไม่เน้นประชานิยมเพราะโครงการแจกเงินจะตามมาด้วยการขึ้นภาษีเสมอ โดยนโยบายของพรรคชาติพัฒนากล้าจะเน้นไปที่การปรับโครงสร้างกับการหารายได้ ซึ่งมีนโยบายหลัก 4 ด้าน คือ 1.พลังงาน เพราะพลังงานเป็นต้นทุนของธุรกิจ ถ้าน้ำมันแพง ไฟแพง ก๊าซแพง ของทุกอย่างก็จะแพง 2.การเข้าถึงโครงสร้างเข้าถึงเงินทุน โดยการยกเลิกแบล็คลิสต์ เครดิตบูโร ให้ประชาชนสามารถเข้าไปกู้เงินในระบบ ไม่ต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ 3.ลดภาษีกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่ถึง 4 หมื่นบาท ส่วนเรื่องตลาดหลักทรัพย์เรามีแนวคิดแข่งขันเสรี จึงต้องไม่มีการเก็บภาษีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเราต้องใช้ภาษีมากระตุ้นการแข่งขันเพิ่มโอกาส และต้องเพิ่มฐานกระจายการเก็บภาษีต้องทำให้ทั่วถึงเท่าเทียม ซึ่งตลาดหุ้นจะใช้เป็นเครื่องมือช่วยเกษตรกรเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์และนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ อาจจะโยงไปภาษีสรรพสามิตคือเรื่องสุราชุมชน หากเราเอาบริษัทสุราใหญ่ๆ ของเมืองไทยมาเป็นผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และให้เกษตรกรเข้ามาเป็นสมาชิกแบบสหกรณ์ จะทำให้เราขยายตลาดสุราชุมชนสุราผลไม้ไทยไปได้ทั่วโลก และสนับสนุนให้บริษัทใหญ่ๆ เติบโตไปต่างประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ปัญหาหลักของเรื่องภาษีในประเทศไทยคือความไม่ทันสมัยในการจัดเก็บและบริหารจัดการโครงสร้างภาษีเพราะปัจจุบันประเทศไทย มีกรมที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอยู่ 3 กรม คือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต แต่ไม่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน จะต้องมีระบบ Data one เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ แบ่งปันข้อมูลกันจะช่วยป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นได้ดีที่สุด ส่วนเรื่องของการส่งเสริม ESG และ BCG ผ่านมาตรการทางภาษี ต้องมีการลดภาษีให้กับผู้ประกอบการ สำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าที่เป็น BCG และ ESG ก็สามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อส่งเสริมให้คนใช้สินค้าที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ต้องมีมาตรการภาษีที่จะช่วยเหลือ SMEs โดยเสนอให้มีการงดเก็บภาษีสามปี ในขณะที่ปัญหาของกรมศุลกากรนั้น ต้องลดอำนาจของกรมศุลกากรลง เพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น  ในส่วนของกรมสรรพสามิตนั้น ต้องจัดเก็บเฉพาะสิ่งของที่จำเป็นจะต้องจัดเก็บจริงๆ ที่คนไม่ค่อยใช้ไม่ค่อยบริโภคจริงๆ เพื่อกระตุ้นการบริโภคให้เกิดขึ้นได้ก่อน

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้เศรษฐกิจโตกว่านี้ โดยภาษีเงินได้นิติบุคคล อยากจะเสนอหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินของภูมิภาค ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรในวัยแรงงานลดลง เด็กเกิดใหม่ลดลง ภาษีเงินได้ที่จัดเก็บได้ก็จะลดลง จึงต้องให้คนมีลูกได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาวาระสำคัญของประเทศคือการขาดแรงงานและการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทั้งยังให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดเก็บภาษีจากคนรวยในต่างจังหวัดที่เยอะขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะต้องให้ความสำคัญและจะต้องจัดให้มีเจ้าภาพในการดำเนินการเรื่อง Carbon Tax และจัดการกับ Carbon Footprint และ Carbon Credit

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยมีความทุกข์กับกรมศุลกากร ที่ใช้เวลาตีความกฎหมายทยาวนาน ทำให้มีการเปรียบเทียบว่าทำไมการนำเข้าง่ายกว่าการส่งออก ตรงนี้ต้องไม่เกิดขึ้นเพราะว่าการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกต้องได้รับการดูแล แต่บ่อยครั้งไม่ได้เกิดจากหน่วยงานกรมศุลกากร อาจจะเป็นหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ดูแลสารพิษเกี่ยวข้องกับการนำเข้า ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกับหน่วยงานส่วนกลางก่อน ส่วนสรรพสามิต เกี่ยวข้องกับสุขภาพเกี่ยวข้องกับศีลธรรมเรื่องของความฟุ่มเฟือยแต่ถึงเวลาตีความไปต่างๆ นานา ดังนั้นกรมสรรพสามิตต้องทำภายใต้นโยบายที่เหมาะสม ทำงานร่วมกันทั้งรัฐและเอกชน สำหรับภาษีสรรพากร รายได้ภาษีที่สูงขึ้นไม่จำเป็นต้องมาจากอัตราภาษีที่สูงขึ้น แต่ได้มาจากการขยายฐานภาษี ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีรายได้มากขึ้น และร่วมมือในการเสียภาษี ใช้มาตรการและขั้นตอนที่รวดเร็วของ VAT Refund ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและมาท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงเสนอยกเลิกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและหันกลับไปใช้ภาษีโรงเรือน

ในขณะที่ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า การกำหนดนโยบายภาษีต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มียุทธศาสตร์ กรมต่างๆต้องทำงานร่วมกัน มีนโยบายร่วมกัน กฎหมายต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยเข้ากับยุคสมัย และต้องกำจัดปัญหาธุรกิจคอรัปชั่นเพื่อให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และเป็นการจูงใจทางอ้อมให้ประชาชนเสียภาษี ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรเกือบ 67 ล้านคน แต่มีผู้เสียภาษีรายได้เพียง 10 ล้านคน