ในประเทศ

กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา ระดมสมอง “สร้างเสริมสุขภาวะ ป้องกันก่อนรักษา”

กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา ระดมสมอง “สร้างเสริมสุขภาวะ ป้องกันก่อนรักษา” มุ่งหวังสร้างองค์ความรู้ลดการเจ็บป่วยและตายของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านสุขภาพของรัฐ สู่เป้าหมายสร้างนโยบายเพื่อคนไทยมีสุขภาพดีอย่างมั่นคงยั่งยืน ด้าน สสส.ชูนวัตกรรมแอปฯ WIND Training โปรแกรมเพิ่มกิจกรรมทางกายเฉพาะบุคคล

ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เป็นประธานจัดสัมมนา “สร้างเสริมสุขภาวะ ป้องกันก่อนรักษา” เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2566 เพื่อเสนอความคิดเห็น “การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การสร้างองค์ความรู้และสร้างความรอบรู้ (Health Literacy) ในการดูแลสุขภาพของประชาชน” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานประกันสังคม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่าการสัมมนาดังกล่าวเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การสร้างองค์ความรู้และสร้างความรอบรู้ (Health Literacy)ในการดูแลสุขภาพของประชาชน ทั้งเชิงนโยบายและการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง (Risk factors) และเพิ่มปัจจัยปกป้อง (Protective factors) ด้านสุขภาพ ลดอัตราการเจ็บป่วย และอัตราการตายที่เป็นภาระโรคของประเทศ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศชาติและครัวเรือน โดยมุ่งหวังการสัมมนาครั้งนี้ให้ได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ ปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและปฏิบัติ หรือกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อการดำเนินงานด้านการสาธารณสุขของประเทศให้น้ำหนักความสำคัญต่อการป้องกันก่อนรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอนุกรรมาธิการสร้างเสริมสุขภาวะ ป้องกันก่อนรักษาในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า แนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การสร้างองค์ความรู้ และสร้างความรอบรู้ (Health Literacy) ในการดูแลสุขภาพของประชาชน ทั้งเชิงนโยบาย นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดปัจจัยเสี่ยง (Risk Factors) และเพิ่มปัจจัยปกป้อง (Protective Factors) ด้านสุขภาพ ลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจความดัน มะเร็งอ้วนลงพุงที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย คิดเป็น 76% ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรทั้งหมดหรือเกือบ 4 แสนคนต่อปีโดยครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและอัตราการตายที่เป็นภาระโรคของประเทศ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศชาติและครัวเรือน

“การสัมมนาครั้งนี้สสส. และภาคีเครือข่ายสุขภาพได้รับการสนับสนุนจากกมธ.สาธารณสุขวุฒิสภาให้เร่งดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะป้องกันก่อนรักษาสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไตรพลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพของสสส. ที่มุ่งพัฒนาแนวทางและวิธีการพิเศษรณรงค์สร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพนวัตกรรมชุดความรู้ด้านสุขภาพเช่นองค์ความรู้กลุ่มโรคNCDs โรคที่คุณสร้างเองชีวิตวิถีใหม่วิถีชีวิตสุขภาวะยืดเหยียดยางเสริมสร้างกล้ามเนื้อคู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้านคู่มือการดูแลผู้สูงวัยเดินดีไม่มีล้มล่าสุดได้พัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชันWIND Training โปรแกรมออกแบบตารางกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย”ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมจัดบูธสื่อสารรณรงค์การสร้างเสริมสุขภาพ , ยุทธศาสตร์ไตรพลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ , การสร้างเสริมสุขภาพด้วยการพัฒนาแนวทางและวิธีการพิเศษ รวมทั้งเผยแพร่ชุดความรู้ด้านสุขภาพ อาทิ กลุ่มโรค NCDs โรคที่คุณสร้างเอง , ชีวิตวิถีใหม่วิถีชีวิตสุขภาวะยืดเหยียดยางเสริมสร้างกล้ามเนื้อ , คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน , คู่มือการดูแลผู้สูงวัยเดินดีไม่มีล้ม