ในประเทศ

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้แรงงานไทยยุคใหม่ยังต้องทำงานหนักและไม่ได้รับการคุ้มครอง

30 ปีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตา บริษัท เคเดอร์ เสียชีวิต 188 ราย สู่ความปลอดภัยคนงาน แต่ปัจจุบันแรงงานไทยยุคใหม่จำนวนมาก  ทั้งไรเดอร์ พนักงานนวด พนักงานทำความสะอาด ฯลฯ  ยังต้องทำงานหนักและไม่ได้รับการคุ้มครอง ถึงเวลาต้องทบทวน

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ในวันนี้เป็นวันครบรอบ 30 ปี โศกนาฏกรรมของคนงานโรงงานผลิตตุ๊กตา เคเดอร์ จ. นครปฐม ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 188 คน เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนเรื่องสุขภาพความปลอดภัยของคนงานครั้งสำคัญที่สุดในประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เรียกร้อง ให้เกิดกลไกการคุ้มครองด้านสุขภาพความปลอดภัยแก่คนงานละให้มีการพัฒนาปรับปรุงให้คนงานมีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน 

จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ ตึกถล่ม โรงงานผลิตตุ๊กตา และของเด็กเล่น บริษัท เคเดอร์ อินดัสเทรียล ไทยแลนด์ จำกัด ที่มีนายทุนเป็นคนฮ่องกง คนไต้หวัน และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 188 คน แยกเป็นคนงานหญิง 174 คน คนงานชาย 14 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 469 คน เป็นอุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในอุตสาหกรรมของประเทศไทย

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิงที่มีอายุไม่มาก ส่วนใหญ่ต้องรับผิดชอบเป็นกำลังหลักของครอบครัว มีบุตรต้องเลี้ยงดูอยู่ 1- 4 คน ทำให้มีเด็กกำพร้าเพราะสูญเสียพ่อและแม่ในเหตุการณ์นี้ถึง 92 คน ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการกระโดดหนีจากตัวอาคารมีอาการบาดเจ็บได้แก่ กระดูกสันหลังหัก ข้อเท้าหัก กระดูกเชิงกรานหัก ข้อมือหัก สมองช้ำ ผู้บาดเจ็บหลายคนจากเหตุการณ์นี้มีอาการเรื้อรัง และมี 3 ราย กลายเป็นผู้ทุพพลภาพ  

โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหลายเรื่อง เช่นไม่มีบันไดหนีไฟ ประตูทางเข้าออกมีขนาดคับแคบเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อาคารแต่ละชั้นไม่มีระบบเตือนภัยที่ได้มาตรฐาน และโครงสร้างอาคารก็ไม่ได้มาตรฐาน เกิดเหตุการณ์เพียง 15 นาที ก็ถล่มลงมา

หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้ องค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ ร่วมกันเป็นเครือข่ายเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากโรงงานเคเดอร์  จนทำให้คนงานที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ได้ค่าชดเชยที่มีความเป็นธรรมระดับหนึ่ง  รวมถึงค่าชดเชยที่เป็นค่าการศึกษาเด็กกำพร้าพ่อแม่ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรี และเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างกลไกลการดูแลความปลอดภัยในการทำงาน จากการเคลื่อนไหวได้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เกิดคณะทำงานความปลอดภัยในโรงงาน มี พรบ.ความปลอดภัยในการทำงาน ละมีสถาบันคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานเกิดขึ้น

“มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ทุกวันที่ 10 พ.ค. เป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติของทุกปี  หลังจาก 30 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวและเป็นเครือข่ายที่มีความสำคัญ รวมตัวกันเคลื่อนไหวได้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าค่าชดเชยคุ้มครองทางกฎหมายต่างๆที่เป็นธรรม และโครงสร้างในการแก้ปัญหาความปลอดภัยในการทำงานได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่ ตามสถานการณ์ในปัจจุบันมีการจ้างงานคนงาน ในรูปแบบต่างๆมากขึ้น เช่นในแรงงานแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ พนักงานนวด พนักงานทำความสะอาด และพนักงานอิสระมากมาย ซึ่งในการจ้างงานคนงานกลุ่มนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ และคนงานกลุ่มนี้ก็เผชิญกับปัญหาความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น มีการได้รับบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต โดยที่ไม่ได้รับค่าชดเชยเลย โดยที่กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานและกองทุนเงินทดแทน หรือกลไกความปลอดภัยในการทำงาน กฎมายไม่สามารถคุ้มครองคนงานกลุ่มนี้ได้เลย” จะเด็จ กล่าว

“ดังนั้น 30 ปีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตา เคเดอร์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความคุ้มครองคนแรงงาน ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง เราควรเอาบทเรียนตรงนี้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้คนงานกลุ่มนี้ได้ความคุ้มครองที่ดีขึ้นกว่านี้”

ในประเด็นแรงงานรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายแม้ว่าจะมีบทเรียนโศกนาฏกรรมเคเดอร์มาแล้วเมื่อ 30 ปีก่อน  ในส่วนของคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหารของแพลตฟอร์ม นายวรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยด้านแรงงาน เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยสุขภาพความปลอดภัยของไรเดอร์ พบว่า ไรเดอร์มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานมากขึ้น เพราะความเร่งรีบ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน 10-12 ชั่วโมงต่อวัน ในสถานที่ทำงานที่อยู่บนท้องถนนซึ่งถูกจัดให้เป็นท้องถนนที่มีอุบัติเหตุสูงอันดับต้นของโลก จะเห็นได้จากการเสียชีวิตของไรเดอร์ที่ปรากฎเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

“เราได้สัมภาษณ์ไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุจำนวนกว่า 20 คน บางคนเป็นนักศึกษาทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ประสบอุบัติเหตุต้องตัดม้ามตัดไต ไรเดอร์หญิงบางคนถูกรถเทลเลอร์ชนเสียขาไป ทุพลภาพตลอดชีวิต อีกหลายคนเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น ตัดเท้า จมูกหัก แขนหัก ขาหัก  ต้องพักรักษาตัวนานหลายเดือนขาดรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว”

​ไรเดอร์เป็นอาชีพที่เกิดขึ้นมาในช่วงสิบปีนี้ ประมาณการณ์ว่ามีจำนวนมากกว่า 500,000 คน ทั่วประเทศ เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงรวมทั้งปัญหาสุขภาพจากการทำงานที่ต้องอยู่บนจักรยานยนต์เป็นเวลานานทุกวันและอยู่บนท้องถนนที่อันตราย แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพความปลอดภัยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเหมือนกับแรงงานในสถานประกอบการ นับตั้งแต่ กฎหมายเงินทดแทน เช่น เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เมื่อลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานหลังจากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนให้ เป็นต้น โดยกฎหมายระบุให้นายจ้างมีส่วนรับผิดชอบอย่างชัดเจน

​“ไรเดอร์ควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน ลาคลอด เพราะไรเดอร์ในทางปฏิบัติถือว่าอยู่ในความสัมพันธ์ในการจ้างงาน หรือเป็นลูกจ้าง แต่ถูกทำให้ไม่เป็นลูกจ้างที่เรียกกันว่า พาร์ทเนอร์ หรือคู่สัญญาอิสระ พวกเขาและเธอจึงไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายด้านสุขภาพความปลอดภัยและสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานที่มีอยู่” นักวิจัยด้านแรงงาน กล่าว