‘เขาทับควายเพื่อชุมชน’ พลิกฟื้นเหมืองแร่เหล็กโบราณ สู่แหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และพันธมิตร เดินหน้าโครงการ “เขาทับควายเพื่อชุมชน”ภารกิจพัฒนาพื้นที่เหมืองแร่เหล็กโบราณและพื้นที่โดยรอบรวม 193 ไร่ สู่สถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่า ความสวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยว และประวัติศาสตร์การทำเหมือนแร่เหล็กของไทยที่น่าค้นหาแห่งใหม่ จังหวัดลพบุรี
จากเหมืองแร่เหล็กในอดีต “เขาทับควาย” ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี มีประวัติมายาวนาน สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งผลิตตะปู ลวด และวัสดุอื่น ๆ เพื่อนำมาใช้ภายในประเทศตั้งแต่ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปี 2487 กรมโลหกิจ (กรมทรัพยากรธรณี ในปัจจุบัน) ได้อนุญาตประทานบัตร (ใบอนุญาต) ทำเหมืองแร่เหล็ก ให้แก่บริษัท นวโลหะ จำกัด เพื่อเข้าทำเหมืองแร่เหล็กอย่างต่อเนื่อง กระทั่งประทานบัตรสิ้นสุดลงเมื่อปี 2553 และปัจจุบัน พื้นที่เหมืองแร่เหล็กเขาทับควาย อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วันนี้เหมืองแร่เหล็กโบราณในอดีต กำลังจะได้รับการพลิกฟื้นให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ขับเคลื่อนภารกิจนี้โดย สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ร่วมกับจังหวัดลพบุรี โดยการสนับสนุนของกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมศิลปากร สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ “เขาทับควายเพื่อชุมชน” โครงการที่มุ่งตอบโจทย์ประโยชน์ชุมชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน
“เขาทับควาย” ในสายตาของ ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตเหมืองแร่เหล็ก จึงได้ริเริ่มโครงการ “เขาทับควายเพื่อชุมชน” ขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ต่อชุมชนที่อยู่โดยรอบ ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2570
แนวคิดเพื่อการพัฒนาพื้นที่ได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางของการทำงานในรูปแบบของ Public-Private Partnership (PPP) Model คือ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ ชุมชน และภาคธุรกิจ สอดรับกับแนวทางของการประชุม COP 28 ที่จะจัดขึ้นที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเน้นสร้างและขยายความร่วมมือเพื่อทำในเรื่องที่ยากให้กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
“นอกจากบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญคือ การทำงานร่วมกันกับชุมชนและรับฟังถึงความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งก็ทำให้ได้คำตอบที่หลากหลายและเป็นประโยชน์อย่างมากเพื่อการพัฒนาในโครงการนี้ ทั้งแหล่งน้ำชุมชน แหล่งเรียนรู้ พื้นที่ออกกำลังกาย และพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นต้น” ดร.ชนะ กล่าว
แนวทางการพลิกฟื้นเหมืองแร่เหล็ก แบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรก ซึ่งเป็นพื้นที่บ่อเหมืองเดิม 60 ไร่ เตรียมพัฒนา 18 ไร่ ให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาด 300,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อประโยชน์ของชุมชน
ส่วนที่สอง พื้นที่โดยรอบบ่อเหมืองเดิม เตรียมพัฒนาพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านสันทนาการ โดยเป็นลานออกกำลังกายสำหรับชุมชน
ส่วนที่สาม การยกระดับพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการเรียนรู้แห่งใหม่ในจังหวัดลพบุรี ซึ่งจะดำเนินการปลูกไม้ท้องถิ่น ทั้งราชพฤกษ์ ตะแบก และชมพูพันธุ์ทิพย์ ตลอดสองข้างทางถนนสายที่มุ่งหน้าเข้าออกโครงการ เพื่อความสวยงามและดึงดูดนักท่องเที่ยว การบุกเบิกเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เหมืองแร่เหล็กโบราณ ถ้ำเหมืองแร่เหล็กโบราณ โดยจัดทำเส้นทางเดินป่าให้ผู้สนใจขึ้นไปดูจุดชมวิวเขาทับควาย
นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง (Outdoor Exhibition) บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบัน และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียนด้านนิเวศวิทยา ด้านธรณีวิทยาแหล่งแร่ ด้านประวัติศาสตร์การทำเหมืองแร่เหล็กโบราณ พร้อมกับพัฒนาป่าบริเวณเขาทับควายขนาดพื้นที่ 175 ไร่ เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ทั้งคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งเริ่มการก่อสร้างสำนักงานป่าไม้ให้เป็นส่วนของที่ทำการ ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566
“การพัฒนาพื้นที่โครงการเขาทับควายเพื่อชุมชน จะเริ่มดำเนินการทันที โดยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในฝั่งทิศตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่บ่อเหมืองเดิมประมาณ 60 ไร่ รวมทั้งการปลูกต้นไม้ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสำหรับฝั่งทิศตะวันออกของถนนพหลโยธิน” ดร.ชนะ กล่าว
จากเหมืองแร่เหล็กสู่มิติใหม่ของ “เขาทับควายเพื่อชุมชน” ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ก็คือ แหล่งกักเก็บน้ำชุมชนขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยภูมิทัศน์ที่งดงามจากต้นไม้หลากหลายพันธุ์ที่สอดคล้องกับฤดูกาล กลายเป็นจุดเช็คอินสำหรับนักท่องเที่ยว และ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของเยาวชนและผู้สนใจทั่วไป ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และนำมาซึ่งรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ตำบลห้วยโป่ง และจังหวัดลพบุรี