ในประเทศ

รู้จัก 3 วิสาหกิจชุมชนด้านการเกษตรภาคเหนือนำไม้ผลอัตลักษณ์ท้องถิ่นสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

นายเรืองพจน์ ธารานาถ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ จัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์ข้ามถิ่นและของดีภาคเหนือครั้งที่ 2 “Northern Fruit Festival” เพื่อประชาสัมพันธ์และกระจายผลผลิตไม้ผลและผลิตภัณฑ์ของภาคเหนือ สู่ผู้บริโภคในภูมิภาคอื่นของประเทศ ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ โคราช ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2566มีผู้ประกอบการจากวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือมาร่วมจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คุณภาพในราคาย่อมเยา

นายเรืองพจน์ ธารานาถ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ จะพาไปรู้จักตัวอย่างวิสาหกิจชุมชนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ 3 กลุ่ม ดังนี้

1.วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย

ก่อนที่จะมาเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ได้มีการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นจากคุณนงค์รัก แสนอุบล ประธานวิสาหกิจชุมชนนำมะม่วงจากสวนของตนเองที่ไม่ผ่านเกณฑ์การซื้อขายมาแปรรูปเป็นมะม่วงกวนจำหน่าย จากนั้นได้ชักชวนชาวบ้านที่มีเวลาว่างมาช่วยดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ โดยให้ค่าจ้างตอบแทน ขณะเดียวกันก็ได้รับซื้อผลไม้จากเกษตรกรในราคาแพงกว่าตลาดเพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์แปรรูป

กระทั่งปี 2563 ได้ทำการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ มีระบบมากขึ้น มีการนำผลิตภัณฑ์จดทะเบียนอย. และมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายต่อเนื่องตลอดทั้งปี

สำหรับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ได้แก่ มะม่วงกวนกะทิสด ส้มลิ้มหรือมะม่วงกวนแบบแผ่น กล้วยตาก และกล้วยม้วน ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่นำมาทำผลิตภัณฑ์แปรรูปเหล่านี้ ประกอบด้วย มะม่วงโชคอนันต์ มะม่วงแก้วขมิ้น และกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง โดยเฉลี่ยแต่ละเดือนมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปทั้งกล้วยและมะม่วงรวมกัน 600-700 กิโลกรัม ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นร้านจำหน่ายของฝากในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปพาสเจอร์ไรซ์ เนื่องจากมีคู่ค้าธุรกิจสายการบินให้ความสนใจนำไปบริการให้กับผู้โดยสารบนเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวมีต้นทุนสูง จึงอาจจะต้องมีการร่วมมือหรือรับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้ หากนำผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรไปให้บริการผู้โดยสารสายการบินซึ่งจะมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ ก็จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น สมาชิกวิสาหกิจและเกษตรกรที่เป็นคู่ค้าก็จะมีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย

2.วิสาหกิจชุมชนฝรั่งอินทรีย์บ้านตะคร้อ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์


จุดเริ่มต้นจากคุณปรียาณัชก์ แจ่มไทย ซื้อฝรั่งมารับประทานและนำไปเป็นของฝากให้กับญาติ แล้วพบว่าฝรั่งที่ขายตามท้องตลาดทั่วไปใช้ยาฆ่าแมลง ด้วยความที่ตนเองมีที่ดินและทำเกษตรผสมผสานอยู่แล้ว ประกอบกับที่บ้านเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสารชีวภาพที่ใช้ในการเกษตร จึงตัดสินใจปลูกฝรั่งไว้บริโภคเองบนพื้นที่ 3 ไร่

โดยความตั้งใจแรกเพียงต้องการปลูกฝรั่งไว้รับประทานเองในครัวเรือน นำไปแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง หากมีเหลือถึงจะนำไปขาย ต่อมามีโอกาสนำฝรั่งไปขายที่ตลาดประชารัฐ และมีการสุ่มตรวจหาสารเคมีในสินค้าจากร้านค้าต่าง ๆ ที่นำมาจำหน่าย รวมถึงฝรั่งของคุณปรียาณัชก์ด้วย ซึ่งเมื่อตรวจแล้วไม่พบว่ามีสารเคมี ก็ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านนิตยสาร ส่งผลให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และเริ่มนำฝรั่งไปขายในงานต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ

ต่อมาได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 11 ไร่ 1 งาน และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในปี 2561 พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปออกมาจำหน่าย ประกอบด้วย น้ำฝรั่ง ฝรั่งอบแห้ง ข้าวเกรียบฝรั่ง รวมถึงสบู่จากใบฝรั่ง ทั้งนี้ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจเพิ่มมากขึ้น และคาดหวังว่าจะผลักดันเป็นสินค้าส่งออกได้ในอนาคต

สำหรับพันธุ์ฝรั่งของวิสาหกิจชุมชนฝรั่งอินทรีย์บ้านตะคร้อ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ คือสายพันธุ์ “ฝรั่งพันธุ์แจ่มไทย” ตั้งชื่อนามสกุลของคุณปรียาณัชก์ ซึ่งได้จากการผสามผสานสายพันธุ์และพัฒนาจนได้ฝรั่งที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ผลใหญ่ เนื้อกรอบฟู มีการใช้เทคนิคพิเศษที่ทำให้เนื้อไม่กระด้าง ที่สำคัญเป็นฝรั่งอินทรีย์ปลอดสารเคมีทุกขั้นตอน

3.เกษตรกรแปลงใหญ่ลำไย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
เกิดจากเกษตรกรชาวสวนลำไยในอ.จองทอง จ.เชียงใหม่ มารวมกลุ่มกันจำนวน 250 ราย ข้อดีของการจัดตั้งกลุ่มคือทำให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น มีระบบบริหารจัดงานชัดเจน มีเงินปันผล รายได้เกษตรมั่นคงยิ่งขึ้น มีตลาดรองรับการจำหน่ายผลผลิตแน่นอน รวมถึงได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ

ลำไยที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไยในอ.จองทอง จ.เชียงใหม่ ปลูกเป็นลำไยพันธุ์อีดอซึ่งมีจุดเด่นคือผลใหญ่ เม็ดในเล็ก หวานกรอบ ไม่ฉ่ำน้ำ ฤดูกาลออกผลผลิตจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน ส่วนลำไยนอกฤดูกาลจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม เรียกได้ว่ามีผลผลิตตลอดทั้งปี

สำหรับผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไยในอ.จองทอง จ.เชียงใหม่ จะคัดลำไยเกรดพรีเมียมขายในประเทศ 30% ส่วนที่เหลืออีก 70% ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม สิงคโปร์ และพม่าเล็กน้อย ผู้บริโภคในประเทศจึงได้บริโภคลำไยที่มีคุณภาพในราคาย่อมเยา

ยอดขายลำไยเฉลี่ยต่อปีของสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มอยู่ที่ 1,875 ตัน โดยปีนี้มีราคาขายไม่ต่ำกว่า 35 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ราคาขายไม่ต่ำกว่า 25 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้มีผลผลิตลำไยออกมาน้อย ราคาขายจึงมากขึ้น อีกทั้งปีที่ผ่านมายังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตลาดส่งออกยังเปิดไม่มากนัก ราคาขายจึงต่ำ

ทั้งนี้ ในงานแสดงและจำหน่ายไม้ผลอัตลักษณ์ข้ามถิ่นและของดีภาคเหนือ ครั้งที่ 2 นี้ ทางกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ลำไย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้นำลำไยมาจัดโปรโมชั่นลำไยบรรจุตะกร้า 3 กิโลกรัม ราคาตะกร้าละ 130 บาท ปกติ 150 บาท นอกจากนี้ ยังได้นำผลผลิตของสหกรณ์การเกษตรจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มาจำหน่ายและลดราคาในงาน ได้แก่ ลูกพลับและอโวคาโด กิโลกรัมละ 40 บาท 3 กิโลกรัม 100 บาท ปกติ 50 บาท/กิโลกรัม