ในประเทศ

สสส.-เครือข่ายงดเหล้า จัดประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานฯ 3 ปี

สสส.-เครือข่ายงดเหล้า จัดประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานฯ 3 ปี หนุ่มนักพากย์ เมืองชุมพร คว้าอันดับหนึ่งประเภทบุคคล ส่วน “เด็กน่าน” คว้าชัยประเภททีม นักพากย์รุ่นพี่ ปลื้ม เห็นแววดีหลายคนสานต่องานพากย์สืบสานงานพากย์เรือยาวประเพณี ปลอดเหล้า-เบียร์

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพลศึกษา และเครือข่ายนักพากย์เรือสร้างสุข ร่วมกันจัดเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 3  ที่ แม่น้ำเจ้าพระยา สนามแข่งเรือท่าน้ำนนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี โดยผู้ชนะการแข่งขัน

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สคล. เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ สคล.ได้รณรงค์ให้จัดแข่งเรือยาวประเพณีปลอดเหล้า เบียร์ ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการตอบรับด้วยดีจากผู้จัดงานทั่วประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวมีความปลอดภัยจากผลกระทบที่เกิดจากคนมึนเมาทั้งอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ลดลงมาก ล่าสุดไดมีการขยายการสื่อสารผ่านการพากย์เรือยาว ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนะธรรม เพื่อส่งต่อการพากย์เรืออย่างสร้างสรรค์ให้กับนักพากย์รุ่นใหม่ๆ โดยไม่ทิ้งเสน่ห์แห่งการพากย์ ที่ต้องทำให้เกิดความเร้าใจ สนุกสนาน แล้วเสริมการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยง ทั้งนี้การสร้างนักพากย์รุ่นใหม่นี้ได้มีการอบรมในแต่ละภูมิภาค รวมถึงจัดเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดครั้งแรกในปี 2562 ที่สนามแข่งเรือยาวประเพณี อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ส่วนในปี 2565 จัดประกวดที่สนามแข่งขันเรือยาวประเพณี อ.เมือง จ. และล่าสุดปี 2566  เพิ่งจัดที่ ท่าน้ำนนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีเด็กเยาวชนเข้าร่วมการประกวดในรอบชิงแชมป์ประเทศ 50 คน

ด้าน นายพีรพงศ์ พรหมบุตร หรืออาจารย์ช้างดำเมืองสุรินทร์ ผู้ดูแลโครงการเครือข่ายนักพากย์เรือสร้างสุข กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมการเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือเด็ก เยาวชนอายุตั้งแต่ 7-22 ปี ที่ผ่านเวทีอบรมนักพากย์เรือเยาวชน จาก สคล. และ สสส. จากพื้นที่ต่างๆ ก่อน โดยในการประกวดจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทเดี่ยวบุคคล และประเภททีม 5 คน เกณฑ์การตัดสินจะใช้ระบบคะแนนรวม 100 คะแนน  โดยเป็นภาคทฤษฎี 15 คะแนน ประกอบด้วยการสอบข้อเขียน 10 คะแนน การจัดทำแฟ้มข้อมูล 5 คะแนน และสอบภาคปฏิบัติ 80 คะแนน ซึ่งจะพิจารณาจากน้ำเสียง ข้อมูลเนื้อหา เทคนิคลีลา ไหวพริบ และการรณรงค์ให้ปลอดอบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนันและปัจจัยเสี่ยง ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจ และเสียงชื่นชมจำนวนมาก กลุ่มนักพากย์เรือรุ่นใหญ่รู้สึกมีความสุขที่เห็นเด็กเยาวชนมีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นในการฝนฝนตนเอง จนมีฝีมือโดดเด่นหลายคน สามารถเป็นกำลังสำคัญต่องานพากย์เรือและวงการเรือยาวของประเทศในอนาคตได้

ทั้งนี้ โดยการพิจารณา พบว่า ผู้ชนะการประกวดประเภทบุคคล คือ นายวรกันต์ ทองรอด อายุ 15 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จากจังหวัดชุมพร ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ พร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับทุนการศึกษา 7,000 บาท ได้แก่นายจิตติพัทธ์  ต่อสุข น้องเจ อายุ 16 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จังหวัดสุรินทร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้รับทุนการศึกษา 4,000 บาท ได้แก่ เด็กหญิงปริยฉัตร ปะระมะ น้องออมสิน อายุ 13 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จากจังหวัดน่าน และ นายณัฐพล สีหาราช น้องนัท อายุ 19 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จากจังหวัดอุดร ส่วนผู้ชนะประเภททีม 5 คนได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ พร้อมทุนการศึกษา 25,000 บาท คือทีมนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขจากภาคเหนือ จังหวัดน่าน ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มได้แก่ 1. ด.ช.ภูพิพัฒน์ กิตินันท์ 2. ด.ญ.รุจิลักษณ์ ชัยสมทิพย์ 3. ด.ช.ศุภณัฐ สวนศรษฐ 4. ด.ช.ศักรินทร์ ยาแก้ว 5.ด.ช.ศุภณัฐ สวนศรษฐ  

นายวรกันต์ ทองรอด อายุ 15 ปี ผู้ชนะเลิศนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ประเภทเดี่ยวบุคคล จากจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ตนได้ฟังเสียงนักพากย์ตั้งแต่เด็กแล้วชอบมาก และสนใจสมัครเข้าร่วมอบรมเป็นนักพากย์เรือเยาวชน สร้างสุข เป็นปีที่ 5 จึงดีใจมากที่ความพยายามของตนทำให้สามารถชนะการแข่งขันได้ ซึ่งต้องขอขอบคุณครูอาจารย์เป็นต้นแบบที่ดี จากนี้ตนจะนำความรู้ที่ได้และเวลาที่มี มาสอนการพากย์เรือสร้างสรรค์ให้น้องๆในภาคใต้ได้เข้าเรียนรู้คุณค่าความหมายในวิถีวัฒนธรรมแห่งงานบุญประเพณี ท้องถิ่น ห่างไกลเหล้า บุหรี่ การพนัน อบายมุข นำความรู้นี้ติดตัวไปใช้ต่อยอดในอนาคตได้

ขณะที่ ด.ช.วีรยุทธ จินดาแดง อายุ12 ปี ผู้เข้าร่วมประกวดนักพากย์เรือเยาวชน จากโรงเรียนนครนนท์วิทยา 1 วัดท้ายเมือง จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า  ตนมีโอกาสเข้ามาฝึกอบรม เรียนรู้ทักษะ เทคนิคการพากย์เรือในโครงการของ สสส. และวันนี้ก็ได้เข้าร่วมประกวดนักพากย์เรือยาวประเพณีครั้งแรก นับเป็นประสบการณ์ที่สุดยอด ประทับใจมาก เป็นโครงการที่สอนให้ตนมีความกล้า มีความมั่นใจ มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น สามารถนำไปใช้ต่อยอดงานที่เกี่ยวกับการพูด การสื่อสาร เช่นการเป็นผู้ดำเนินรายการ หรือเป็นพิธีกรงานต่างๆได้ในอนาคตได้