ในประเทศ

สคล.ปลื้มถอดบทเรียนได้ผล ลดพื้นที่ดื่มเหล้าเป็นพื้นที่เรียนรู้ธรรมชาติ

สคล.ปลื้มถอดบทเรียนได้ผล ลดพื้นที่ดื่มเหล้าเป็นพื้นที่เรียนรู้ธรรมชาติ ลดปัญหา ลดความเสี่ยง เจ้าหน้าที่ภูมิใจ เขตอุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่ปลอดภัย เตรียมรับสถานการณ์ในฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึง

เมื่อเร็วๆนี้ ที่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) สนับสนุนโดย สสส. ร่วมจัดเวทีประชุมถอดบทเรียน “ไม่ขาย ไม่ดื่มในเขตอุทยานฯ และพื้นที่สาธารณะ” ตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปี 2564 ภายใต้ พรบ.อุทยานฯ ปี 2562  และ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 โดย แลกเปลี่ยนวิธีการ ปัญหาอุปสรรค ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ จำนวน 7 พื้นที่ มีนายชัยยา ห้วยหงส์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวเปิดงานและต้อนรับผู้เข้าร่วมในครั้งนี้

นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เปิดเผยว่า พื้นที่อุทยานฯ แห่งชาติ ที่ผ่านมา เป็นสถานที่ดื่มแอลกอฮอล์ มากกว่าจะเป็นสถานที่มาศึกษาและสัมผัสธรรมชาติ ประชาชนร้องเรียนเรื่องการส่งเสียงดังและกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยเครือข่ายงดเหล้าได้สนับสนุนสื่อรณรงค์ต่างๆ และสนับสนุนนโยบายเขตพื้นที่ปลอดเหล้าบุหรี่มาต่อเนื่อง โดยในช่วงต้นปีได้เข้าพบนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  เพื่อปรึกษาหารือ และเกิดกิจกรรมถอดบทเรียนครั้งนี้ขึ้น

ด้านนางสาวรัชนี โชคเจริญ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า อุทยานฯเขาใหญ่ไม่ไกลกรุงเทพและเมืองใหญ่ๆ การเดินทางสะดวก โดยการท่องเที่ยวมีได้ทุกสัปดาห์ และจะมีจำนวนมากในเทศกาลวันหยุดยาว รูปแบบกางเต็นส์พักแรมในช่วงกลางคืน ซึ่งที่ผ่านมาปัญหานักท่องเที่ยวทำร้ายร่างกายจากการดื่มในปี 2553 เป็นข่าวใหญ่และเกิดขึ้นที่นี่ ทำให้ทางกระทรวงทรัพยกรฯ ได้กำหนดมาตรการเข้มงวดขึ้น โดยกรณีที่เป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทางอุทยานฯ จะมีมาตรการทั้งการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย รวมไปมีเจ้าหน้าที่ตักเตือน การรับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว ซึ่งหากกลุ่มนักท่องเที่ยวใดไม่เชื่อฟังมาตรการสุดท้ายคือเชิญลงเขา ซึ่งปัจจุบัน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รับทราบมาตรการนี้แล้ว ยังมีส่วนน้อยที่คิดว่าเจ้าหน้าที่อาจจะไม่เอาจริง

ในขณะที่ นางสาวฉัตรวรุฬ อ่างแก้ว นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ เล่าว่า อุทยานแห่งชาติตาดโตน จุดไฮไลต์คือ น้ำตกตาดโตน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ โดยเป็นการพักผ่อนคลายร้อนเล่นน้ำ จำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ที่ผ่านมามีสถิติสูงสุด 5 วันกว่า 5หมื่นคน ทางอุทยานฯ เล็งเห็นผลกระทบในพื้นที่เล่นน้ำหากมีการดื่มแอลกอฮอล์มีความเสี่ยงจมน้ำ และเศษแก้วจากขวดเหล้าเบียร์ จึงมีมาตรการเข้มงวดตรวจเตือนตั้งแต่ผ่านด่านนอก ด่านใน และบริเวณจุดจอดรถ และทางเดินไปสู่ลานน้ำตก รวมทั้ง มีการจัดชุดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ และตักเตือน โดยมาตรการสูงสุดหลังจากตักเตือนแล้ว คือการขอเก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขอทำลายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยใช้มาตรการสูงสุดนี้แล้ว โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างดีเพราะเข้าใจถึงการสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวทุกคน โดยเฉพาะการที่พื้นที่อุทยานฯ ไม่ได้สร้างคนเมาออกสู่ถนนในช่วงสงกรานต์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาสังคมโดยรวมด้วย

ส่วนนายประเสริฐ เมคิน พนักงานราชการ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง  เล่าว่า อุทยานฯ มีการแจ้งประชาสัมพันธ์ตั้งแต่จุดเตรียมสัมภาระ และการห้ามจำหน่ายในร้านค้าบนภู โดยตั้งแต่มีประกาศนี้พื้นที่เป็นระเบียบมากขึ้น ช่วยลดผลกระทบ สามารถช่วยสร้างความปลอดภัย และส่งผลดีต่ออุทยานแห่งชาติทุกแห่ง เช่น ลดปัญหาการเมาและวิวาท ส่งเสียงดัง ลดขยะ ลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ ลดความขัดแย้งระหว่างนักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่อีกด้วย ที่สำคัญ คือ การได้รับคำชมจากนักท่องเที่ยวว่าได้ดูแลอย่างดี รู้สึกปลอดภัย ส่วนเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ยอมรับว่าตั้งแต่มีมาตรการควบคุมการดื่มการขายแอลกอฮอล์ทำให้ทำงานง่ายขึ้น ถึงเวลา 4 ทุ่มก็เงียบสงบ เป็นการมาพักผ่อนกับธรรมชาติอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ ในภาพรวมผู้เข้าร่วมถอดบทเรียน สนับสนุนมาตรการนี้ต่อไป และวิธีปฏิบัติขึ้นอยู่กับบริบทสถานที่รูปแบบการท่องเที่ยว ไม่มีวิธีการที่ดีที่สุด แต่มีมาตรการที่เหมาะสมตามแต่พื้นที่นั้นๆ โดยเห็นว่ามีประโยชน์ระดับ 8-10 คะแนน แม้ว่าจะไม่ได้ผล 100% แต่ได้นักท่องเที่ยวที่ต้องการเสพธรรมชาติอย่างแท้จริงมากขึ้น ลดนักท่องเที่ยวที่เน้นเปลี่ยนที่กินเหล้าชัดเจน โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ได้แก่ การเพิ่มประชาสัมพันธ์จากส่วนกลาง การเพิ่มมิติสื่อสารการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กาย ใจ สังคม จิตวิญญาณ เป็นต้น 

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่อุทยานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมระดมพลังแนวทาง จำนวน 30 ท่าน ได้แก่ 1) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.) อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี 3.) อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ  4.) อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน  จังหวัดขอนแก่น  5.) อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย 6.) อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี 7.) จากอุทยานแห่งชาติตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ