ในประเทศ

ป้ามล ทิชา ปลุกคนทำงานคุ้มครองเด็ก

ป้ามล ทิชา ปลุกคนทำงานคุ้มครองเด็กเติมความกล้าหาญ ลดพิธีกรรม อีเว้น  สร้างเครือข่ายต้องทะลุทะลวงปัญหา  อย่าพอใจแค่ความสำเร็จแบบเคสบายเคส ขอทำจริง ต่อเนื่อง มีพลวัติและใช้อำนาจร่วม

เมื่อเร็วๆนี้ ในเวทีสานพลังผู้ทำงานด้านการคุ้มครองและความปลอดภัยในเด็ก จัดขึ้นโดย เครือข่ายผู้ทำงานเกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน  กรุงเทพมหานคร ยูนิเซฟ(ประเทศไทย) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  โดยช่วงหนึ่งของงาน นางทิชา   ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว  ได้ปาฐกถา ในหัวข้อ การคุ้มครองเด็กตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นศูนย์กลาง  ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่ในเพจของมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว

นางทิชา ณ นคร กล่าวว่า วันนี้ขออนุญาตใช้เสียง  ใช้พลัง  ใช้ความกล้าหาญ พูดแทนเด็ก ๆ ไม่ใช่พูดในนามแห่งความรัก ความปรารถนาดี  เพื่อแสดงความเป็นผู้ใหญ่ใจดี อย่างเลื่อนลอย ซึ่งส่วนตัวถือว่าเป็นพิธีกรรมที่ไม่ค่อยสนิทใจ  วันนี้จึงขอพูดในนามของผู้ร่วมรับผลจากบาดแผลของเด็ก ๆ อันสืบเนื่องจากที่พวกเขาเข้าไม่ถึง  สิทธิ  โอกาส  ความฝัน  พื้นที่สร้างสรรค์ รวมถึงการเติบโตภายใต้ระบบอำนาจนิยมที่เป็นมรดกบาปจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งมีส่วนผลักดันให้เด็กจำนวนหนึ่ง ตกลงไปใน “หลุมดำขนาดใหญ่ของสังคม” หลุมดำที่เด็ก ๆ ไม่ได้เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา  แต่มันเกิดจากความไม่กล้าหาญในการตัดสินใจของผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบ  ผู้ใหญ่ที่เกิดก่อนในชื่อต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง รัฐบาล  องค์กรรัฐ กลุ่มธุรกิจ  กลุ่มทุน  แม้แต่เอ็นจีโอ  ที่ไม่สามารถผลักดันนโยบายสาธารณะที่มีวิสัยทัศน์เพื่อเด็ก ๆ รวมถึงครอบครัว 20 กว่าล้านครอบครัวให้เติบโตภายใต้ระบบนิเวศทางสังคมที่เหมาะสมได้

“เมื่อนโยบายสาธารณะของประเทศไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่ Empower พลังบวกให้กับเด็กๆ “ผลผลิต ผลลัพธ์ และอิมแพค” ทั้งหมด ทั้งมวล จึงไปตกที่เด็กอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเด็กที่ทุนชีวิตต่ำ เด็กที่มีแผล ชีวิตของเขาจะพังพินาศก่อนใคร แต่ที่อัปยศกว่านั้นก็คือ เมื่อเด็กธรรมดาๆ คนหนึ่งต้องบอบช้ำ บาดเจ็บจากการเข้าไม่ถึงสิทธิ โอกาส ความฝัน พื้นที่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกันต้องแบกรับมรดกบาปในชื่อระบบอำนาจนิยมที่ผู้ใหญ่บูชา สมาทาน ซึ่งส่งผลต่อเด็ก ๆ ในหลากหลายรูปแบบ เช่น เด็กบางคน – บางกลุ่ม ที่อ่อนไหวต่อการถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพและโต้กลับในรูปแบบต่างๆ ไม่เข้าพวก ต้องขบถ ต้องคำราม เพื่อปกป้องความคิด ความเชื่อของตัวเอง  ส่วนเด็กบางคน – บางกลุ่ม หลุดไปเป็นผู้แพ้ของสังคมในรูปของเหยื่อ โดยเฉพาะเหยื่อชั้นล่างสุดของเหยื่อ เช่น เด็กในขบวนการค้ามนุษย์ ธุรกิจทางเพศ ยาเสพติด ในขณะที่เด็กบางคน – บางกลุ่ม หลุดไปเป็นผู้กระทำหรือเหยื่อที่แข็งแรงกว่าเหยื่อด้วยกัน โดยการฟูมฟักตัวเองให้แกร่งขึ้น ก้าวร้าวขึ้น เพื่อจะได้เป็นผู้รอดในสังคมที่สิ้นหวัง ไม่มีตัวตน ไม่มีคุณค่า ณ นาทีที่เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวข้างต้น เสียงด่าทออย่างเกรี้ยวกราด เหยียดหยาม ด้อยค่า ผลักไสเด็กๆ ออกไปจากสังคม ก็อื้ออึง ถล่มทลาย ขณะที่ผู้ปกป้องเด็ก ๆ ยังไร้ตัวตน ยังเป็นเสียงแห่งความเงียบ ณ พื้นที่แห่งความปลอดภัย ทั้งที่คนเหล่านั้น  มีตำแหน่ง  มีหน้าที่  มีความรับผิดชอบต่อเด็ก ๆ ตามกฎหมาย” นางทิชา กล่าว

นางทิชา กล่าวต่อว่าสำหรับผู้คนที่เกรี้ยวกราดใส่เด็ก ๆ พวกเขาคงลืมสนิทไปแล้วว่า ทั้งตัวเขาในฐานะคนด่า ทั้งตัวเด็ก “ไม่มีใครปรารถนาที่จะเกิดมา  เพื่อเป็นผู้แพ้  เพื่อเป็นคนเลว เพื่อถูกเกลียดชัง  เพื่อเป็นผู้ก่ออาชญากรรม” แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความผิดพลาด ความก้าวร้าว  ความดื้อรั้น  การโต้กลับ  การไม่เข้าพวก ของมนุษย์เด็กถูกประกอบสร้างโดยรัฐ  ผ่านทางระบบนิเวศทางสังคมที่ไม่เป็นมิตร  ไม่ปลอดภัยและการถูก Empower แต่ด้านมืดมากกว่าด้านสว่าง ขณะที่ความรับผิดชอบของพรรคการเมือง  รัฐบาล องค์กรรัฐ  กลุ่มธุรกิจ กลุ่มทุน  รวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอและคนเกิดก่อน  กลับไม่ปรับตัว  ไม่ปรับกติกา  ไม่ปรับกฎหมาย ไม่ปรับกลไกโดยเฉพาะกลไกที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ๆ ให้เป็นกลไกแนวมนุษยนิยมด้านสิทธิเด็กที่แข็งแรง กล้าหาญ ท้าทายทุกอุปสรรคที่ขัดขวางเพื่อไปให้ถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ๆ  เยาว์วัยมีไว้ให้ผิดพลาดและการเยียวยาที่ประณีต จึงเป็นแค่ Soft Power ในตำรา ในห้องประชุม   โดยส่วนตัวเชื่อว่า  ไม่ใช่เพราะผู้ใหญ่เหล่านั้น  ไม่มีความรู้ ไม่มีงบประมาณ  ไม่มีทรัพยากร แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือความกล้าหาญที่จะก้าวออกมา  จากพื้นที่แห่งความปลอดภัย พร้อม Passion ต่อระเบียบใหม่ๆ ของสังคม ของโลก เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง ปลอดภัย งดงาม  บนฐานของสิทธิเด็กสากล  ดูเหมือนว่า…การจับมือถักทอกันเป็นเครือข่าย เป็น Net Work ในแต่ละภารกิจ แต่ละเทศกาลขององค์กรต่างๆ ในสังคม  ไม่ใช่เพื่อ Movement ไม่ใช่เพื่อ Attack สิ่งที่คุกคาม สิทธิ โอกาส ความฝัน พื้นที่สร้างสรรค์ และระบบอำนาจนิยม แต่เป็น Net work เพื่อให้จบพิธีกรรม ให้จบอีเว้นท์  เพื่อเข้าสู่อีเว้นท์ใหม่ต่อไป

“ถ้าความร่วมมือของผู้มีอำนาจในระดับการตัดสินใจทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งเกิดขึ้นและผ่านไปแล้วนับร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง สามารถก้าวข้ามความสำเร็จแบบ Day by Day / Case by Case หรือพิธีกรรมที่เรียบร้อย – สวยงาม  แต่เปราะบาง  “สู่…การทำจริง – ทำต่อเนื่อง คงเส้นคงวา – ทำแบบมีพลวัต – ทำแบบทะลุขีดจำกัด – ทำบนหลักคิดอำนาจร่วม – ทำแบบไร้รอยต่อ” ภายใต้นโยบายสาธารณะเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว 20 กว่าล้านครอบครัวอย่างมีวิสัยทัศน์  ที่สำคัญเปี่ยมด้วยความเชื่อที่หนักแน่นและศรัทธาที่แรงกล้าต่อมนุษย์ที่เป็นเด็ก “นั่นแหละ ! คือคำตอบ ที่พวกเรากำลังตามหา” เพราะ…เด็กไม่ใช่แค่เด็ก แต่เขาคือเมล็ดพันธุ์ที่พิเศษสุด ที่โลกได้มอบให้กับพวกเรา อนาคตของเด็กจึงไม่ใช่แค่อนาคตของปัจเจกบุคคล แต่เป็นอนาคตของสังคม ของประเทศและของโลก สุดท้ายอย่าลืมเตือนตัวเอง  ก่อนเอ่ยวาจาว่า เด็กสมัยนี้…” นางทิชา กล่าว