ในประเทศ

สสส.-สถาบันยุวทัศน์ฯ สานพลังภาคี ขับเคลื่อนนโยบาย “พก ซื้อ ใช้” ลดอุปสรรคการเข้าถึงถุงยางอนามัยของเยาวชน

อึ้ง!! ผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่เกือบครึ่ง เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี วันเอดส์โลก ‘66 สสส.-สถาบันยุวทัศน์ฯ สานพลังภาคี ขับเคลื่อนนโยบาย “พก ซื้อ ใช้” ลดอุปสรรคการเข้าถึงถุงยางอนามัยของเยาวชน ชงข้อเสนอรัฐบาล “ลดราคาถุงยาง เพิ่มการเข้าถึง” 

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2566 ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วน 1663 เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) และเครือข่ายสถานศึกษาในกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายวิถีชีวิตปกติกับถุงยางอนามัย “พก ซื้อ ใช้” ลดอุปสรรคการเข้าถึงถุงยางอนามัยของเยาวชน เนื่องในวันเอดส์โลก ประจำปี 2566 ชงรัฐบาล เร่งเสนอแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการติดเชื้อเอชไอวี

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทย มีผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี 561,578 คน มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ 10,972 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,230 คน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี จำนวน  4,379 คน โดยการติดเชื้อรายใหม่ร้อยละ 96 เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน และเมื่อพิจารณาสถานการณ์การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน กามโรคต่อมน้ำเหลือง ช่วงปี 2560 – 2565 กลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราป่วย 99.6 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2560 เป็น 112.3 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2565 คาดการณ์ได้ว่าหากสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งส่งผลต่อสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี ที่เพิ่มสูงขึ้นได้เช่นเดียวกัน

“ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย เร่งกระตุ้นสนับสนุนให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่มีความเข้าใจและตระหนักถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาทิ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี ในโอกาสวันเอดส์โลก ประจำปี 2566 ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ยอมรับและเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปีนี้กำหนดแนวคิดการรณรงค์ คือ “Let Communities Lead” ที่เป็นการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  ไม่ว่าจะเป็นชุมชน รัฐ เอกชนและเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะเยาวชนที่ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสร้างสุขภาวะ มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักในการป้องกันตัวเองและคนรอบข้าง และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งจะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ต่อไป” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว

นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า “ปัจจุบันสายด่วน 1663 เป็นผู้ให้บริการให้คำปรึกษากับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งในปี 2565 พบข้อมูลสำคัญว่าเพศชาย ขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด ขณะที่เพศหญิงจะขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์มากกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีข้อแนะนำมายังคนรุ่นใหม่และผู้ปกครองด้วยว่า หากพบว่าตนเอง หรือบุตรหลานได้รับเชื้อเอชไอวี สิ่งที่ต้องรีบดำเนินการทันทีคือการเข้ากระบวนการรักษา ตามสิทธิ์รักษาพยาบาลของตนเอง เพื่อรับยาและรับประทานยาต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนด จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ สามารถใช้ชีวิตตามปกติแบบคนทั่วไปได้ รวมถึงสามารถแต่งงานมีบุตรได้ โดยที่บุตรจะไม่ได้รับเชื้อจากบิดามารดา ข้อแนะนำสำคัญคือใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือรับประทานยาต้านก่อนการมีเพศสัมพันธ์ เพราะการป้องกันที่ดีมีค่ามากกว่าการรักษาหรือแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

นายสุรเชษฐ์ โพธิ์แสง รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเอชไอวี ในกลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเสนอเร่งด่วนต่อรัฐบาล 2 ข้อ 1. ขอให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณามาตรการปรับลดราคาถุงยางอนามัยที่จำหน่ายในประเทศ แม้ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะให้บริการถุงยางอนามัยสำหรับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เช่น ความไม่สะดวกในการขอรับบริการผ่านแอพพลิเคชั่น ไม่รวดเร็วเท่าการไปร้านสะดวกซื้อ 2. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดกว้างและลดการควบคุมการสื่อสารโฆษณาของถุงยางอนามัย เนื่องจากถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ถุงยางอนามัย พ.ศ. 2556 ทำให้การโฆษณาต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาต ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดการสื่อสารที่สามารถสร้างแรงจูงใจในการซื้อและการใช้ถุงยางอนามัยเหมือนกับของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน หากข้อเสนอทั้ง 2 ข้อ ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล เชื่อว่าจะทำให้แนวโน้มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่น มีแนวโน้มลดลง โดยมี รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และ นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนรับข้อเสนอจากรองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์ฯ และตัวแทนเยาวชน