ในประเทศ

สสส. หนุนลดปัจจัยเสี่ยงในสถานศึกษา ชูโครงการ ‘ลดเหล้า ลดบุหรี่ พัฒนาเด็ก GEN Z ให้มีคุณภาพ’

สสส. หนุนลดปัจจัยเสี่ยงในสถานศึกษา ชูโครงการ ‘ลดเหล้า ลดบุหรี่ พัฒนาเด็ก GEN Z ให้มีคุณภาพ’ โดยวิทยาลัยพณิชยการบางนา ต้นแบบการใช้ศิลปะ-ดนตรี เปลี่ยนเวลาว่างเป็นเวลาสร้างสรรค์

เมื่อเร็วๆนี้ ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 3 วิทยาลัยพณิชยการบางนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนจัดกิจกรรม “ลดเหล้า ลดบุหรี่ พัฒนาเด็ก GEN Z ให้มีคุณภาพ” ภายใต้ โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักเรียนอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา ระยะที่ 2 โดยครูและแกนนำนักศึกษาจัดการแข่งขันประกวดวงดนตรีโฟล์คซองและเพ้นท์ผ้าดิบสื่อสารปัจจัยเสี่ยง มีนักศึกษาทุกชั้นปี ปวช. และ ปวส. ที่ว่างจากการเรียนเข้าร่วมมากกว่า 800 คน

นางสาวรุ่งนภา ปุณยานุเดช ผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนคือกลุ่มเสี่ยงต่อสิ่งเสพติดมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่อยู่นอกหรือในสถานศึกษา เพราะเป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากลอง ทำให้ถูกชักชวนได้ง่าย รวมถึงสถานการณ์ปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทำให้กระทบต่อสภาพจิตใจ บางคนอาจหันไปพึ่งพาสิ่งเสพติด ดังนั้นการจะแก้ปัญหาสิ่งเสพติดจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับจิตใจให้สามารถเผชิญปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหมายถึงการส่งเสริมทักษะ การสร้างเสริมพฤติกรรม ทัศนคติที่เหมาะสมต่อช่วงวัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกัน

“ขอขอบคุณ สสส. และคณะดำเนินงานทุกฝ่าย ที่เล็งเห็นความสำคัญในการจัดกิจกรรม ลดเหล้า ลดบุหรี่ เพื่อพัฒนาเด็ก GEN Z ให้มีคุณภาพ ขอให้นักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ นำความรู้จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้รับไปปรับใช้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน และป้องกันปัญหาสิ่งเสพติดต่อไป” นางสาวรุ่งนภา กล่าว

นางสาวอรุณี ยาสาร อาจารย์หัวหน้างานปกครองวิทยาลัยพณิชยการบางนา กล่าวถึงกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ว่า ก่อนหน้านี้ครูและนักศึกษาแกนนำได้ไปเข้าร่วมอบรมกับ สสส. ในโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักเรียนอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา จากนั้นก็ได้กลับมาร่วมกันเขียนโครงการที่จะนำมาใช้กับสถานศึกษา และได้ออกมาเป็นโครงการ ลดเหล้า ลดบุหรี่ พัฒนาเด็ก GEN Z ให้มีคุณภาพ และเกิดเป็นกิจกรรมการประกวดวงดนตรีโฟล์กซอง และการออกแบบเพนท์ผ้าดิบป้ายรณรงค์ ซึ่งนักศึกษาเป็นแกนนำในการจัดทั้งหมด

“กิจกรรมนี้เราให้นักศึกษาใช้เวลาว่างจากการเรียนมาฝึกซ้อมดนตรี เป็นการรวมกลุ่มใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เป็นการลดความเสี่ยงไม่ให้เขาเอาเวลาว่างไปทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ส่วนการประกวดทำป้ายรณรงค์จะมีการจัดกลุ่มเป็น 4 ทีม ให้ระดมความคิดสร้างสรรค์ ให้สื่อความหมายตามชื่อของโครงการ ทั้งภาพ ตัวหนังสือ ว่าจะออกแบบอย่างไร ลดเหล้า ลดบุหรี่ แล้วพัฒนาเด็ก GEN Z จะต้องออกมาเป็นแบบไหน แล้วนำผลงานที่ทำไปต่อยอด ในการเดินรณรงค์วันงานกีฬาสีของวิทยาลัยในเดือนมกราคมปีหน้า ในส่วนของการให้ความรู้เกี่ยวกับโทษและพิษภัยของเหล้าบุหรี่ของทางวิทยาลัยจะมีการให้ความรู้ทุก ๆ วัน ในช่วงการเข้าแถวเคารพธงชาติเป็นประจำวันละประมาณ 5-10 นาที และยังร่วมดูแลพฤติกรรมนักศึกษาที่มีการแอบ ก็จะพยายามย้ำเตือนกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้า” นางสาวอรุณี  กล่าว

นายธนภัทร ชัยศรี นักศึกษา ปวส. ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการตลาด และนายกองค์การนักวิชาชีพแห่งอนาคตแห่งประเทศไทยวิทยาลัยพณิชยการบางนา กล่าวว่า ตอนได้เข้าร่วมอบรมกับ สสส. ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยต่าง ๆ ของยาเสพติด และการทำหน้าที่เป็นนักศึกษาแกนนำเพื่อการชักชวน เพื่อน ลด ละ เลิก ซึ่งได้นำข้อมูลความรู้จากการอบรมมาเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบกิจกรรม โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นมาจากความสนใจของเพื่อน ๆ เป็นทุนเดิม และมีความสามารถ ศักยภาพของเพื่อน ๆ ในวิทยาลัย นำมาใช้ในการรณรงค์ได้เป็นอย่างดี นอกจากกิจกรรมที่จัดขึ้น ในการส่งเสริมการป้องกันปัจจัยเสี่ยงได้มีการประชุมสมาชิกสภานักเรียน ก็จะกระจายข้อมูลความรู้สื่อสารออกไปในแต่ละสาขา และยังมีส่วนในการร่วมสำรวจนักศึกษาเพื่อให้ข้อมูลและอบรมเรื่องปัจจัยเสี่ยงด้วย

ด้านนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่มากถึง 9.9 ล้านคน เจ็บป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่มากกว่า 1 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นนักสูบหน้าใหม่ถึง 95,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุ 15- 19 ปี นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากว่า 79,000 คน โดยกลุ่มที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 20-24 ปี ขณะที่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต จากข้อมูล ปี 2565 ไทยเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตอยู่ที่ 17,000 ราย แม้ว่าจะลดลง แต่ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก โดยสาเหตุสำคัญมากจากการดื่มแล้วขับ 30 % และเมื่อดูตัวเลขผู้เสียชีวิตพบว่าอยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ดังนั้นการเสริมพลังหนุนเสริมแกนนำเพื่อร่วมเป็นหูเป็นตา ช่วยกันป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหล้า บุหรี่ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง