ในประเทศ

สาธารณสุขชุมชน แสดงพลัง “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 ในงานประชุมวิชาการสภาการสาธารณสุขชุมชนระดับชาติ ประจำปี 2566 เรื่อง Interdisciplinary Public Health for Human Well-being and Environment : สู่เส้นทางนักสาธารณสุขทองคำ อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร กรรมการวิชาการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และผู้จัดการหน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง (สปสส.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล กล่าวว่า

” ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเรื่องสำคัญซึ่งวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน สามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ โดยใช้แนวทาง 5 มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของ กรมควบคุมโรค ในการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่และชุมชน อันได้แก่
1. การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้
2. การสร้างความตระหนัก/รับรู้โทษ พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า แก่เด็ก เยาวชน รวมถึงสาธารณชน
3. การเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
4. การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
5. การยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า

ดังนั้นทางเครือข่ายนักสาธารณสุขฯ จึงขอแถลงการณ์ถึงรัฐบาลว่า ขอให้รัฐบาล ทั้งภาคการเมือง ภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้เยาว์และเยาวชนมากกว่าผลกำไรและภาษีที่จะได้รับจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยทางเครือข่ายฯมีข้อเสนอแนะต่อสาธารณะและรัฐบาล ดังนี้
1. ขอให้คงมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เพราะจากการทบทวนมาตรการของประเทศต่าง ๆ พบว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่
2. ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเฝ้าและระวังบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์และไม่เรียกรับผลประโยชน์ใดๆจากกรณีปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า
3. รัฐควรเร่งเข้าร่วมการลงนามในพิธีสาร ว่าด้วยการขจัดการการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย ขององค์การอนามัยโลกเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายในประเทศและเป็นการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาในระดับนานาชาติ
4. เร่งรณรงค์และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ทุกภาคส่วน ให้ทราบและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากกลยุทธ์การตลาดล่าเหยื่อเยาวชน และการแทรกแซงรูปแบบต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้า

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “เครือข่ายนักสาธารณสุขฯตระหนักดีว่าปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ด้วยการคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าและรณรงค์ให้สาธารณะรับรู้และตระหนักถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริบทงานสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ภายใต้บริบทวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน”