ในประเทศ

สสส. สานพลังภาคี-ผู้ใหญ่ใจดี เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ต้อนรับปิดเทอม 2567 หนุนเด็ก เยาวชนเข้าถึงกิจกรรม

สสส. สานพลังภาคี-ผู้ใหญ่ใจดี เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ต้อนรับปิดเทอม 2567 หนุนเด็ก เยาวชนเข้าถึงกิจกรรมสร้างทักษะชีวิต ภายใต้แนวคิด “ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ” kick off 2 มี.ค. นี้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมภาคีเครือข่ายงานปิดเทอมสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ โดยมีภาคีเครือข่ายจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม กว่า 60 คน จาก 50 หน่วยงาน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ฯ เปิดพื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัยให้เด็กและเยาวชนที่จะใช้เวลาช่วงปิดเทอมและวันหยุดกว่า 150 วันต่อปี ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ด้านทักษะชีวิตอย่างเต็มที่ สสส. เป็นหน่วยงานเชื่อมโยงระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ใจดีที่เปิดพื้นที่กิจกรรมให้แก่เด็กๆ ได้เข้าไปเรียนรู้ ผ่านแพลตฟอร์ม www.happyschoolbreak.com โดยเด็กๆ และผู้ปกครองสามารถสืบค้นกิจกรรมที่น่าสนใจได้ทั่วประเทศ เน้นสร้าง Soft skills ซึ่งเป็นทักษะความสามารถด้านอารมณ์ การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และการพัฒนาตนเอง เช่น การสื่อสารพูดคุย รองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในศตวรรษที่ 21 ที่จะมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายด้าน อาทิ การเมือง การศึกษา อารยธรรมใหม่เครือข่ายทางสังคม เทคโนโลยีและการติดต่อสื่อสาร การใช้ AI ที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในยุคปัจจุบัน

“สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนให้เด็กๆ ได้ร่วมในกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ส่งเสริมด้านจิตปัญญา เพื่อปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในสังคม เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากส่วนตนและให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าของตัวเองที่มีต่อสังคมและผู้อื่น เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ สำหรับปีนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย เพิ่มความพิเศษให้กับโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ด้วยการกำหนดแนวคิด “ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ” มีเป้าหมายเชิญชวนภาคีเครือข่ายและหน่วยงานอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเปิดพื้นที่กิจกรรมในชุมชนให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงพื้นที่กิจกรรมที่ปลอดภัยได้ภายใน 15 นาที จึงเป็นโจทย์สำคัญของ สสส. และภาคีเครือข่ายที่จะร่วมสร้างและกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ใจดีเข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชนได้” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า การปิดเทอมของเด็กๆ ที่มีเวลาถึง 150 วัน ถือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก เช่น พัฒนาการถดถอย ภาวะโภชนาการที่ไม่ถูกหลัก ผู้ปกครองต้องทำงานไม่มีเวลาดูแล หลายบ้านแก้ปัญหาด้วยการให้เด็กไปเรียนพิเศษ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เนื่องจากเวลาช่วงปิดเทอมของเด็กๆ ควรจะถูกใช้เพื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากกว่า ดังนั้น สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมเปิดพื้นที่กิจกรรม เช่น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีกิจกรรมออกค่ายอาสาในทุกปี กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดค่ายในอุทยานแห่งชาติรับอาสาสมัครเด็กๆ และจัดค่ายศึกษาธรรมชาติ เป้าหมายพิเศษปีนี้ ในการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในเด็กสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที

“เนื่องจากการสำรวจในปีที่ผ่านๆ มา พบว่าหนึ่งปัญหาที่พบคือ สถานที่จัดงานไกลจากที่พักอาศัย ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือกรณีเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ก็จะต้องเป็นคนพาไป ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้เด็กบางกลุ่มเข้าไม่ถึงพื้นที่กิจกรรม สสส. จึงตั้งโจทย์นี้ขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและลดอุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย การสร้างเครือข่ายชุมชนในเป็นพื้นที่ต่างๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เด็กๆ เข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง โดยจะเปิดตัวแคมเปญปิดเทอมสร้างสรรค์ประจำปี 2567 “ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ” ในวันเสาร์ที่ 2 มี.ค. 2567 ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ขอเชิญชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนเข้าร่วม หรือติดตามกิจกรรมได้ที่ แพลตฟอร์ม www.happyschoolbreak.com” น.ส.ณัฐยา กล่าว

น.ส.พรเพ็ญ เธียรไพศาล ผู้ประสานงานโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนกลาง กล่าวว่า เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับ สสส. เข้าปีที่ 2 ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในการเป็นพี่เลี้ยง ทำให้ภาคีเครือข่ายมีเป้าหมายที่ชัดเจนและสนับสนุนศักยภาพให้มีความเข้มแข็งขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นหน่วยงานที่เชื่อมโยงระหว่างภาคีเครือข่ายและชุมชนในพื้นที่ได้ทำงานร่วมกันมากขึ้นด้วย ปีนี้ได้เลือกพื้นที่สร้างสรรค์ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพชั้นใน เช่น เขตดุสิต สัมพันธวงศ์ บางพลัด เน้นเข้าไปสนับสนุนงานของศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร และศูนย์สร้างสุขทุกวัย เพื่อสร้างกิจกรรมที่เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นอาจจะไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของเด็ก จึงทำให้มีเด็กเข้าร่วมกิจกรรมเฉลี่ยประมาณ 10 คนต่อศูนย์ ดังนั้น ปีนี้จึงเสนอปรับรูปแบบการสร้างกิจกรรมในโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ซึ่งกิจกรรมที่เด็กๆ ชอบมากคือการทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยภาษาอังกฤษ พาเด็กๆ เดินทัวร์ในพื้นที่รอบๆ ศูนย์เยาวชนฯ พร้อมสอดแทรกความรู้ด้วยภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน มีเป้าหมายของปีนี้คือการสร้างพื้นที่กิจกรรมและสนับสนุนให้เด็กเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ได้มากกว่า 100 คนต่อศูนย์