ในประเทศ

เครือข่ายงดเหล้า ชี้รัฐบาลฟังเสียงแต่ธุรกิจ ยก 8 ข้อปลดล็อกกฏหมายคุมน้ำเมา

เครือข่ายงดเหล้า เหนื่อย!! รัฐบาลฟังเสียงแต่ธุรกิจ อ้างสมดุลแต่เอียงข้าง ยก 8 ข้อปลดล็อกกฏหมายคุมน้ำเมา    เอื้อนายทุนดันเหล้าเบียร์ค้าขายได้เสรีมากขึ้น   หมดหวังกับรัฐบาล เมินผลกระทบทางสังคมและชีวิตคน 

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลส่งสัญญาณ  ตีตกร่างแก้ไข พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับของภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ฉบับของประชาชนเบียร์ ผู้ผลิตรายย่อย และฉบับของพรรคก้าวไกล  และจะส่งร่างแก้ไขพรบ.ของกระทรวงสาธารณะสุข พร้อมข้อเสนอแนะ 8 ประการเพื่อเปิดทางให้ค้าขายเหล่าเบียร์ได้เสรีมากขึ้น เข้าสู่การพิจารณาในสภาเร็วๆนี้

นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ในฐานะที่ตนทำงานด้านการควบคุมแอลกอฮอล์มากว่ายี่สิบปี และเป็นหนึ่งใน 13 ล้านรายชื่อที่ร่วมสนับสนุน พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีประชุมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา และเลขานายกรัฐมนตรี ได้ชงข้อเสนอ 8 ข้อ ที่มีเนื้อหาทำให้กฎหมายฉบับนี้อ่อนแอลง ลดทอนอำนาจการบังคับใช้กฎหมายและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจน้ำเมาและร้านเหล้าผับบาร์อย่างเห็นได้ชัด    ตั้งแต่หมวดนิยามการสื่อสารการตลาด จนถึงการให้โฆษณาออนไลน์ได้ ให้ลดราคาส่งเสริมการขายได้ ขยายเวลาขายให้ถึง 24 ชั่วโมง เรียกว่าค้าขายกันแบบเสรีมากขึ้น   ซึ่งขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างสิ้นเชิง  หากเป็นแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุม แก้กฎหมายเอาใจนายทุน ธุรกิจ คนรับกรรมคือประชาชน อย่างรายล่าสุดข่าวคือคนปั่นจักรยานถูกคนเมาแล้วขับชนตาย 2 ศพที่จังหวัดสุรินทร์ หลังจากกินดื่มมาจากสถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมที่รัฐบาลนี้อนุญาตให้ขายได้ถึงตี 4 ต่อไปเราคงได้เห็น นักวิ่ง คนเดินถนน  คนกวาดถนน นักเรียนที่เดินทางไปกลับโรงเรียน พ่อค้าแม่ค้า หรือแม้แต่พระบิณฑบาตก็อาจจบชีวิตหรือพิการตามมาอีกมาก

นายธีระ กล่าวว่า ทราบว่า เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายแพทย์พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ได้เสนอ ปรับลดมาตรการควบคุมสำคัญๆ ถึง 8 ประเด็น ในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะส่งเข้าสภา  เหมือนไม่ได้มองรอบด้านในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม  ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำในหนังสือ Saving Live, Spending Less : The case for investing NCDs  ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติดต่าง ๆ หากรัฐบาลลงทุนแล้ว ผลตอบแทนที่เรียกว่า Return of investment คุ้มค่ามหาศาล โดยการศึกษาพบว่า ถ้าลงทุน 1 ดอลลาร์ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะได้ผลตอบแทน 8.32 ดอลลาร์ หรือลงทุน 35 บาท ได้ผลตอบแทนเกือบ 300 บาท ซึ่งเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจระยะยาวที่ยั่งยืนกว่า แต่รัฐบาลกลับเลือกผลตอบแทนระยะสั้น อ้างความต้องการจะให้นักท่องเที่ยวได้ดื่มสะดวก โดยไม่พูดว่าแล้วผลกระทบที่จะตามมาจะแก้อย่างไร ทุกวันนี้รัฐบาลขาดทุนจากค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์กว่า 2 หมื่นล้านบาท จากที่เก็บภาษีได้ 1.4 แสนล้านบาท แต่ค่าความเสียหายกว่า 1.6 แสนล้านบาท  รัฐบาลกำลังเดินทางผิดบนความสูญเสีย  เลือดเนื้อชีวิตของประชาชน  คงต้องให้ประชาชนตัดสินใจเอาเองว่า เราจะปล่อยให้เหล้าเบียร์เหมือนกับกัญชา กระท่อม ที่เกลื่อนเมืองกันอยู่ตอนนี้หรือ เหล้าเบียร์มีกฎหมายรองรับควบคุมมาอยู่แล้ว น่าจะรักษาและทำให้ดีขึ้น แต่กลับมาปลดล็อกให้เสรีเอาใจนายทุนแบบนี้ไม่ควรทำ” นายธีระกล่าว