กิน-เที่ยว

ไอคอนสยาม อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จำลอง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร  สู่งาน “ไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยามหาสงกรานต์ ๒๕๖๗”  

เทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง นับเป็นช่วงเวลาอันดีที่สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา และร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญเนื่องในวันปีใหม่ไทย กิจกรรมรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนนิยมทำในช่วงเทศกาลปีใหม่คือ การสรงน้ำพระพุทธรูปนำความสิริมงคลมาสู่ตนเองและครอบครัว

 ในโอกาสนี้ ไอคอนสยาม แลนด์มาร์กระดับโลกริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมนำทุกท่านร่วมสืบสานประเพณี อันดีงามของไทย จัดงานต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ “ไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยามหาสงกรานต์ ๒๕๖๗”  ด้วยแนวคิด “THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION: รื่นเริงมหาสงกรานต์ สานต่อตำนานมรดกโลก”  เชิดชูเอกลักษณ์ไทยผสมผสานการละเล่นและวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัย อัดแน่นประสบการณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ  จัดยิ่งใหญ่เต็มทุกพื้นที่ในไอคอนสยาม ตั้งแต่วันที่ 10 – 21 เมษายน 2567 นี้ 

โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ไอคอนสยามได้จัดเตรียมไว้สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย เพื่อร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และแสดงถึงความเคารพในพุทธศาสนา คือกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป ไอคอนสยามจึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ มาประดิษฐาน ณ ไอคอนสยาม เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำพระและขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลกับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ที่ดีในวันปีใหม่ของไทย

‘พระพุทธสิหิงค์’ ชาวเหนือนิยมเรียกว่า ‘พระสิงห์’ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของ ชาวเชียงใหม่ที่ประดิษฐานมายาวนานกว่า 257 ปี โดยเชื่อว่าอำนาจบุญบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธสิหิงค์ จะดลบันดาลให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ และจะขจัด ภัยพิบัติทั้งหลายทั้งปวง ที่ร้ายแรงก็จะเบาบาง และคลี่คลายไปในทางที่ดี และมีความเชื่อว่า เมื่อพระพุทธสิหิงค์ ประทับอยู่ ณ ที่ใด จะทำให้พระพุทธศาสนาที่นั้นเจริญรุ่งเรือง ตามตำนานเล่าสืบต่อกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ ที่ว่าการสร้างพระพุทธสิหิงค์ ได้ประกอบขึ้นด้วยแรงอธิษฐาน 3 ประการคือ

1. คำอธิษฐานของพระอรหันต์ผู้ร่วมพิธี

2. แรงอธิษฐานของพระเจ้ากรุงลังกาผู้สร้าง

3. อานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“การที่พระพุทธสิหิงค์เสด็จประทับอยู่ที่ใด จะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองดังดวงประทีป เสมือนหนึ่งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่” พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธปฏิมากรสำคัญของนครเชียงใหม่ มีพุทธลักษณะประทับสมาธิเพชร   เหนือฐานปัทม์ พระหัตถ์แสดงปางมารวิชัย พระเกตุมาลาเป็นรูปดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วน พระพักต์กลม  ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน อันเป็นพุทธลักษณะของพระพุทธปฏิมาของล้านนาที่นิยมในช่วง   พุทธศตวรรษที่ 21 ศิลปะเชียงแสนยุคแรก ที่มีพุทธลักษณะงดงามเปี่ยมศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ฝ่ายหนึ่งอธิบายว่าหมายถึงลักษณะท่าทางองอาจดุจราชสีห์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งว่าน่าจะสัมพันธ์กับคำในภาษามอญว่า ‘สฮิง–สเฮย’ ซึ่งแปลว่า อันเป็นที่น่าอภิรมย์ใจสอดคล้องกับตำนานของพระปฏิมาที่เล่าว่า เมื่อได้เห็นพระพุทธรูปองค์นี้จะรู้สึกอภิรมย์ใจหรือยินดีประดุจได้เห็นพระพุทธเจ้า

ตามบันทึกในสิหิงคนิทานที่แต่งไว้ โดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1945 – 1985 กล่าวถึงตำนานการสร้างพระพุทธสิหิงค์ โดยกษัตริย์ลังกา ซึ่งมีพญานาคราชแปลงกายเป็นพระพุทธองค์ และช่างได้สร้างพระพุทธรูปขึ้น ตามรูปแปลงของพญานาคนั้นจนแล้วเสร็จ องค์พระพุทธสิหิงค์  ที่สร้างขึ้นนั้น เป็นพระพุทธรูปที่ ทรงมหิทธานุภาพ จึงมีกษัตริย์จากเมืองต่างๆ ส่งสาสน์ถึงกษัตริย์กรุงลังกา เพื่ออัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ไปประดิษฐานยังบ้านเมืองของตน กระทั่งพระพุทธสิหิงค์ได้มาประดิษฐาน ยังนครเชียงใหม่ในเวลาต่อมา

สำหรับองค์พระพุทธสิหิงค์จำลององค์นี้ที่นำมาประดิษฐานให้ประชาชนได้สรงน้ำพระขอพร ณ ไอคอนสยาม เป็นองค์ปั้นหล่อโดยกรรมวิธีแบบโบราณ ขึ้นรูปด้วยแกนดินและขี้ผึ้ง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ โดยฝีมือพ่อครูสล่าดวงจันทร์  จันทรัตน์ นายช่างประติมากร จากอำเภอสารภี ช่างปั้นพระที่ศึกษาการปั้นพระตามพุทธลักษณะความถูกต้องของ ยุคสมัย เป็นช่างฝีมือตั้งแต่อายุ 17 ปี รู้อย่างถ่องแท้จนสามารถถ่ายทอดออกงานออกมาได้ไม่ผิดลักษณะสำคัญและสมบูรณ์สวยงาม และยังเป็นพระพุทธปฏิมาชุดสุดท้าย ที่ท่านได้ฝากฝีมือไว้กับอยู่คู่กับแผ่นดิน โดยประดิษฐานไว้ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร และอัญเชิญออกสมโภชและให้ประชาชนสักการะในเทศกาลสงกรานต์และเทศกาลสำคัญ ทางพระพุทธศาสนาเป็นประจำทุกปี

ปี พ.ศ. 2567 นี้ อันเป็นวาระที่ครบรอบนักษัตรมะโรง ที่มีพระธาตุประจำปี  คือพระธาตุวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในเจดีย์ทรงระฆังที่เก่าแก่ที่สุดในอำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ และยังเป็นพระธาตุเจดีย์ประจำ ปีมะโรงหรือปีงูใหญ่ตามคติของชาวล้านนา เชื่อว่าหากได้กราบไหว้ จะเกิดความเจริญรุ่งเรืองตลอดชีวิตและมีอายุมั่นขวัญยืน

จึงนับเป็นโอกาสอันเป็นมงคลยิ่ง ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระเทพสิงหวราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ได้เมตตาอนุญาตให้มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จำลอง  มาประดิษฐานที่ไอคอนสยาม เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำ และสักการะบูชา พร้อมน้ำพระพุทธมนต์รวมถึงสายสิญจน์มงคล มาเสริมมงคลรับปีใหม่ไทยเพื่อความเป็น  สวัสดีมงคลสืบไป

การสรงน้ำพระพุทธรูปในวันสงกรานต์ เริ่มต้นด้วยตั้งนะโม 3 จบแล้วกล่าวคำอธิษฐานสรงน้ำว่า อิมินา สิญฺจะเนเนวะ โรโค โสโก อุปัททะโว นิพพันตุ สัพพะโส เอเต สุขี โหนตุ นิรันตะรัง  แปลว่า เดชะ ข้าสรงน้ำ พระชุ่มฉ่ำตลอดกาล ทุกข์โศกโรคภัยพาล อันตรธานเป็นสุขเทอญ หลังจากกล่าวคำอธิษฐานเสร็จแล้ว จึงตักน้ำสรงพระพุทธรูปด้วย ความเคารพในลำดับต่อไป

ในวาระขึ้นปีใหม่ของประชาชนชาวไทย ไอคอนสยามจึงขอเชิญทุกท่านสรงน้ำพระพุทธสิหิงส์ และขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว ณ ทางออกประตู 1 ชั้น G โซน ICONLUXE ไอคอนสยาม พร้อมร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ภายในงาน “ไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยามหาสงกรานต์ ๒๕๖๗ ได้ตั้งแต่วันที่  10 – 21 เมษายน 2567 ณ ไอคอนสยาม