ในประเทศ

ก.วัฒนธรรม-ก.มหาดไทย.-สคอ. ขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุสร้างความปลอดภัยเทศกาลสงกรานต์

เที่ยวสงกรานต์วิถีไทย ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ สสส. ผนึกกำลัง ก.วัฒนธรรม-ก.มหาดไทย.-สคอ. ขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุสร้างความปลอดภัยเทศกาลสงกรานต์ พบสงกรานต์ปี 66 ตาย 264 ศพ กทม.ตายสะสมสูงสุด พบเด็กเยาวชนดื่มแล้วขับต่ำกว่า 20 ปี 502 คน เน้นย้ำมาตรการตรวจแอลกอฮอล์ทุกเคสอุบัติเหตุ-ไม่ขายน้ำเมาให้กับเด็ก-เยาวชน ดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย

ที่วัดพุทธปัญญา อ.เมือง จ.นนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว “สงกรานต์วิถีไทย ดื่มไม่ขับ 2567” เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมรักษาประเพณีอันดีงามของสงกรานต์แบบไทย สนุกสนานอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน

โดย นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดอันดับความปลอดภัยทางถนนซึ่งล่าสุดประเทศไทยสามารถลดอันดับลงจากอันดับที่ 9 มาอยู่อันดับที่ 18 ของโลก ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายลดเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุบนถนนให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2570 โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่ต้องเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยทางถนน ดื่มไม่ขับ เพราะจากข้อมูลของ สธ. พบผู้ดื่มแล้วขับ 4,340 ราย และเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 502 ราย  สสส. ได้สานพลังภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ โดยร่วมกับเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ 100 เครือข่ายทั่วประเทศ รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ในจังหวัดต่าง ๆ เน้นย้ำมาตรการดูแลความปลอดภัยทางถนน ตรวจแอลกอฮอล์ในอุบัติเหตุที่เกิดทุกครั้ง ไม่ขายแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน หากพบเด็กเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับให้มีการสอบสวนไปถึงร้านค้า และรายงานพฤติกรรมการกระทำความผิดผ่าน “Facebook มูลนิธิเมาไม่ขับ” เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการลงโทษตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน

“สสส. สนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ขับเคลื่อนป้องกันอุบัติเหตุในพื้นที่อำเภอเสี่ยง 222  อำเภอ เน้นมาตรการ ดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย เพราะอุบัติเหตุส่วนใหญ่ เกิดในพื้นที่ชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชน “ตั้งด่านตรวจเตือนในชุมชน”  ตรวจเตือนพี่น้องในชุมชนไม่ให้ดื่มแล้วขับขี่ สอดคล้องกับข้อมูลของ บ.กลางฯ ที่พบว่า 56% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ เสียชีวิตใกล้บ้าน รัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร สสส. ได้ผลิตสปอตรณรงค์สื่อสารภายใต้แคมเปญ ‘ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง’ สื่อสารถึงแอลกอฮอล์ที่ดูดซึมเข้าร่างกายแม้เพียงไม่นาน ก็ส่งผลต่อสมอง การตัดสินใจ กล้าทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เกิดการคึกคะนอง ใจร้อน ขาดสติ จนนำไปสู่อุบัติเหตุ และการสูญเสีย สงกรานต์ปีนี้ขอฝากถึงประชาชน ผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องดื่มไม่ขับ ก่อนออกเดินทางควรวางแผนการเดินทาง พักผ่อนให้เพียงพอ สวมหมวกนิรภัย และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ร่วมกันลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลให้เป็นศูนย์” นางก่องกาญจน์ กล่าว

นางสาวปราณิสา  เตียวพิพิธพร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายและชุมชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ที่สาธารณรัฐบอตสวานา ได้ประกาศรับรองให้ “สงกรานต์เป็นมรดกโลก” กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ร่วมกับภาคส่วน ขับเคลื่อนยกระดับวัฒนธรรมไทยให้เป็น Soft Power เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ และจัดทำแผนรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาร่วมงานถึงด้านความปลอดภัย ดูแลนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ  โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การไม่คุกคามทางเพศ การเคารพและให้เกียรติ ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเล่นสาดน้ำสงกรานต์ ไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ไม่สร้างความวุ่นวายในที่สาธารณะ รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะ และใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่อง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม

นายวิทยา จันทน์เสนะ  ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย  กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เม.ย. 2566 พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน ผู้เสียชีวิต 264 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดคือ จ.เชียงราย 68 ครั้ง ผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดคือ กรุงเทพฯ 22 ราย สาเหตุจากขับรถเร็ว 38.22% ดื่มแล้วขับ 23.97% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 80.46% โดยนโยบายและมาตรการคุมเข้มเตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ 2567 ภายใต้การรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย  เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” มีแนวทาง และมาตรการ แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ช่วง 1. ช่วงรณรงค์และประชาสัมพันธ์ 2. ช่วงดำเนินการก่อนควบคุมเข้มข้น  3. ช่วงควบคุมเข้มข้น 4. หลังควบคุมเข้มข้น จึงได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งด้านคน ถนน ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด เกิดความปลอดภัยในการเดินทางทุกมิติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และกรุงเทพฯ บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนนำมาตรการไปเป็นแนวทางดำเนินงานอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

นายพรหมมินทร์  กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมและเพิ่มความระมัดระวัง มีสติในการขับขี่ พร้อมประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความเสี่ยงที่จะพบเจอ ได้แก่ รถไม่พร้อม คนไม่พร้อม สภาพล้อ-ยางไม่สมบูรณ์ ขาดประสิทธิภาพยึดเกาะถนน หากมีการเล่นน้ำก็จะทำให้คนขับมองไม่เห็นทาง ถนนลื่น ความเสี่ยงนั่งท้ายกระบะ ไม่สวมหมวกนิรภัย  ดื่มแล้วขับ ขับเร็ว หลับใน ฯ ทาง สคอ. ได้เร่งประสานสื่อมวลชนทุกฝ่ายพร้อมทั้งส่งข้อมูลผ่านหอกระจายข่าว จัดทำสื่อรณรงค์ส่งตรงไปยังหน่วยงานและท้องถิ่นในพื้นที่ ให้มีการกระจายข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนและผู้ขับขี่  เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาล