สสส. สานพลัง สถาบันยุวทัศน์ ฯ จัดนิทรรศการ “บุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย” เชิญชวนผู้ปกครอง ครู เด็ก เข้าชมฟรี เรียนรู้ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้อง
วิกฤตบุหรี่ไฟฟ้าคุกคามเด็กประถม อึ้ง 15% เคยถูกคนในครอบครัวแนะนำให้ลองบุหรี่ไฟฟ้า เด็กที่เคยสูบระบุ 73% ได้บุหรี่ไฟฟ้าจากครอบครัว เพื่อน คนในชุมชน เหตุเข้าใจผิดว่าปลอดภัย สสส. เร่งสานพลัง สถาบันยุวทัศน์ ฯ จัดนิทรรศการ “บุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย” รณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2567 เชิญชวนผู้ปกครอง ครู เด็ก เข้าชมฟรี เรียนรู้ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้อง
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 ที่ศูนย์การค้าสเปลล์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับศูนย์การค้าสเปลล์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดนิทรรศการตีแผ่ความรู้ เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย : ความจริงที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่เคยบอกคุณ” คาดหวังเด็ก เยาวชน และประชาชน ร่วมศึกษาผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยวันนี้ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน จากผลการสำรวจของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นก้าวกระโดดจาก 3.3% ในปี 2558 เพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในภาคกลาง กลุ่มตัวอย่าง 152 คน ช่วงเดือนม.ค. 2567 โดยนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับสาเหตุของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 4-5 โดยกลุ่มตัวอย่าง 15% เคยถูกคนในครอบครัวแนะนำหรือให้ทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่กลุ่มเด็กที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 73% ระบุว่ามีแหล่งที่มาของบุหรี่ไฟฟ้ามาจากครอบครัว เพื่อน คนในชุมชน แนะนำ ให้ยืม หรือขายบุหรี่ไฟฟ้าให้ เนื่องจากเข้าใจว่าปลอดภัย เพราะรูปลักษณ์อุปกรณ์มีความเป็นมิตร
“ผลสำรวจนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “ผู้ปกครอง” ยังขาดความรู้ และความตระหนักถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อบุตรหลานของตนเอง ดังนั้นการให้ความรู้กับกลุ่มผู้ปกครองควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีอันตรายเทียบเท่ากับบุหรี่ชนิดอื่น ๆ จึงเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการบุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย ซึ่งอยู่บนกรอบฐานคิดทำงานเชิงรุกเพื่อจัดให้มีแหล่งความรู้ไปปรากฏอยู่ในสถานที่สำคัญของเด็ก เยาวชน และครอบครัว” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่จะมีส่วนช่วยทำให้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าลดลงนั้น ต้องอาศัยกลไกจากครอบครัวร่วมด้วย และแม้ว่าเด็กและเยาวชนจะได้รับการสอดส่องดูแลหรือการปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่าง ๆ จากบุคลากรในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อถึงช่วงหมดเวลาเรียนหรือปิดภาคเรียน บทบาทเหล่านี้จะกลายเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองทันที ซึ่งการที่ผู้ปกครองมีความรู้หรือความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า จะมีส่วนสำคัญ ที่จะเพิ่มช่องทางการสื่อสารไปยังเด็กและเยาวชน นอกเหนือจากการสื่อสารของหน่วยงานต่าง ๆ และ จะเพิ่มโอกาสประสบผลสำเร็จโดยรวมสำหรับการลดนักสูบหน้าใหม่ลง
ด้านนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า นิทรรศการตีแผ่ความรู้ เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย : ความจริงที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่เคยบอกคุณ” ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากศูนย์การค้าสเปลล์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และสนับสนุนข้อมูลทางกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รวมถึงสนับสนุนนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในการให้ความรู้ กับประชาชนเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งนิทรรศการจะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของกลุ่มผู้ป่วยในประเทศไทย ส่วนประกอบที่อันตรายในบุหรี่ไฟฟ้า และความผิด ทางกฎหมาย รวมถึงการเปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อการจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยจัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. – 10 พ.ค. 2567 และวันที่ 12 พ.ค. ที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อร่วมรณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลกตรงกับวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี โดยคาดหวังว่าจะมีประชาชนที่สนใจเข้ารับชมนิทรรศการกว่า 3,000 คน ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพฯ ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2108 8530 หรือ www.tyithailand.or.th