ในประเทศ

sacit เชิญ 9 กูรู ระดมสมองมองเทรนด์โลกหนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยให้โด่งดังในระดับสากล

sacit เชิญ 9 กูรูผู้เชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมไทย มาระดมสมองมองไปในอนาคต เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก และสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยให้เผยแพร่ไปในระดับสากล และเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวนฤดี  ภู่รัตนรักษ์  ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เปิดเผยว่า sacit ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ได้จัดประชุมเสวนา “sacit Craft Power” SACIT The Future of Crafts : Guru Panel ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมไทยในด้านต่าง ๆ มาร่วมหารือถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมศิลปหัตถกรรมในตลาดโลก เพื่อให้เห็นแนวทางความต้องการของตลาดในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตขยายในตลาดโลกได้มากขึ้น

โดยการประชุมเสวนาในครั้งนี้ sacit ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรมไทย 9 ท่าน มาแสดงความคิดเห็น ได้แก่ ตัวแทน Unseen Craft 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณวิบูลย์ ลี้สุวรรณ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาจิตรกรรม ราชบัณฑิตยสภา และครูมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) / ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 (ผ้ากาบบัว)   นอกจากนี้ ยังมีตัวแทน Thainess 3 ท่าน  ได้แก่ ม.ล.ภาวินี สันติศิริ กรรมการผู้จัดการ, บริษัท อโยธยาเทรด(93) จำกัด และ บริษัท สหัสชา (1993) จำกัด, รศ.ดร.สุภาวี ศิรินคราภรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  และ อาจารย์ ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องการนำศิลปะไทยต่อยอดสู่ออกแบบร่วมสมัย และเรื่องสี “ไทยโทน”

รวมทั้งตัวแทน Soft Power 4 ท่าน ได้แก่ นางสาวชลดา สิทธิวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวยการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), นายอาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม (CEA), นายพิติรัตน์ วงศ์สุทินวัฒนา หัวหน้างานยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชน สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน (อพท.), ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น สำนักบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา)

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 9 ท่าน ล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่สำคัญ โดยผลที่ได้จากการประชุมเสวนาในครั้งนี้ จะนำไปรวบรวม และสังเคราะห์ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีประสบการณ์ และเกี่ยวข้องกับการสร้างคุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่งานศิลปหัตถกรรมในบริบทต่างๆ เพื่อที่จะนำไปจัดทำกรอบแนวคิด SACIT The Future of Craft,  Trends Forecast 2025

โดยผลที่ได้จากการจัดทำ Trends Forecast 2025 จะช่วยให้งานศิลปหัตถกรรมไทยก้าวหน้าไปในทุกมิติ และมีความยั่งยืน รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนา และเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นการสืบสานและยกย่องเชิดชู รักษา พัฒนา และเผยแพร่ ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยให้เผยแพร่ในระดับสากล และสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตในเวทีโลกต่อไปในอนาคต